การบัญชีบริหาร (Managerial Accounting)
โดยส่วนใหญ่แล้ว องค์ประกอบที่สำคัญของการบัญชีบริหารจะประกอบไปด้วย
· การวิเคราะห์งบการเงิน (Financial Analysis) เป็นการดูความสัมพันธ์ของข้อมูลในงบการเงิน เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาพ และสามารถนำมาพยากรณ์ธุรกิจ โดยการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์แนวดิ่ง (Common-size Analysis) การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis) และการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้ในการบริหารการเงินได้ในปัจจุบัน
· การวิเคราะห์ต้นทุน (Cost Analysis) เป็นการนำข้อมูลด้านต้นทุนมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปบริหารจัดการทั้งการวางแผน การตัดสินใจ และการควบคุมการดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย ที่ในปัจจุบันมีการพัฒนาแนวคิดนี้ไปสู่ การบริหารต้นทุน (Cost Management) อันเป็นจุดมุ่งเน้นของการบัญชีบริหารสมัยใหม่
การวิเคราะห์งบการเงิน
เป็นกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ จากงบการเงิน พร้อมหาข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์งบการเงิน
· เพื่อทราบฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ
· เพื่อทราบจุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินงาน
· เพื่อชี้ปัญหาทางการเงิน การดำเนินงานและแนวโน้มในอนาคตของกิจการ
ขั้นตอนการวิเคราะห์งบการเงิน
1. กำหนดเป้าหมายการวิเคราะห์ให้ชัดเจน ว่าจะวิเคราะห์ในฐานะอะไร ต้องการอะไรจากการวิเคราะห์ และจะนำผลการวิเคราะห์ไปใช้อย่างไร
2. รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการที่ต้องการวิเคราะห์
3. นำข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมมาจัดให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ
4. เลือกวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่ต้องการจากการวิเคราะห์
การวิเคราะห์เปรียบเทียบ
เพื่อให้ทราบถึงสภาพของกิจการ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปรียบเทียบข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงและจุดที่ทำให้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้สภาพของกิจการเป็นอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อใช้ในการพยากรณ์ธุรกิจของกิจการต่อไปในอนาคต โดยจะต้องเปรียบเทียบข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังนี้
· ข้อมูลของกิจการในอดีต มาจากงบการเงินของกิจการอย่างน้อย 2 งวดบัญชี ได้แก่ งวดปัจจุบันและอดีต เพื่อทราบการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง และหาสาเหตุประกอบ
· ข้อมูลคู่แข่งในอุตสาหกรรม เป็นการหาข้อมูลจากภายนอกของกิจการ อาจได้มาจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ หรือสอบถามผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทำการเปรียบเทียบ
· ข้อมูลมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นการหาข้อมูลจากภายนอกกิจการ อาจมาจากหน่วยงานราชการที่อ้างอิงได้ และข้อมูลข่าวสารทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบกิจการกับภาพรวมธุรกิจ
· ทั้งนี้ในการเปรียบเทียบต่างๆ หากกิจการมีฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรมีการเปรียบเทียบตามช่วงฤดูกาลประกอบด้วย
การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis)
เป็นการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงรายการในงบการเงินที่ต่างช่วงเวลากัน มีองค์ประกอบที่ใช้ดังนี้
· จัดทำจากงบการเงินอย่างน้อย 2 งวด
· หาจำนวนเงินที่เปลี่ยนแปลงเพิ่ม (ลด) ของแต่ละรายการของ 2 งวด
· หาอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มหรือลดลง โดย
อัตราการเปลี่ยนแปลง = (จำนวนเงินในปีปัจจุบัน – จำนวนเงินปีก่อนหรือปีฐาน) x 100
จำนวนเงินปีก่อนหรือปีฐาน
ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์แนวโน้ม จะทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทำกำไรหรือฐานะการเงิน หรือเพื่อค้นหาสาเหตุต่อไป เช่น ร้อยละต้นทุนสินค้าที่เพิ่ม หรือร้อยละของหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
การวิเคราะห์แนวดิ่ง (Common – Size Analysis)
เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของรายการต่างๆ ในงบการเงินเดียวกันในรูปแบบตัวเลขที่เป็นร้อยละซึ่งจะต้องมีวิธีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องดังนี้
· งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ให้ทำการกำหนดค่าขายเป็น 100% โดยรายการอื่นในงบกำไรขาดทุนให้เป็นสัดส่วนที่เทียบกับค่าขายหรือรายได้รวม
· งบแสดงฐานะการเงิน ให้กำหนดสินทรัพย์หรือหนี้สินและทุนรวม เป็น 100% โดยรายการอื่นในงบดุลให้เป็นสัดส่วนที่เทียบกับสินทรัพย์หรือหนี้สินและทุน
ข้อมูลที่ได้อาจจะเป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลของกิจการที่มีทั้งขนาดและรูปแบบของกิจการที่ต่างกันในงวดเวลาที่ต้องการเปรียบเทียบข้อมูลนั้นๆ
การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis)
เป็นการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของรายการในงบการเงินในงวดบัญชีเดียวกัน โดยตัวเลขหนึ่งเป็นตัวตั้ง อีกตัวหนึ่งเป็นตัวหาร แสดงเป็นอัตราส่วน และสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ข้อมูล โดยพื้นฐานควรจะต้องวิเคราะห์เป็น 4 ส่วน ดังนี้
1. อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) ใช้ในการวัดสภาพคล่องของเงินสดในระยะสั้น
2. อัตราส่วนความสามารถทำกำไร (Profitability Ratio) ใช้ในการวัดความสามารถในการหารายได้และการควบคุมค่าใช้จ่ายของกิจการ
3. อัตราส่วนวัดประสิทธิภาพ (Efficiency Ratio) ใช้วัดความสามารในการใช้สินทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจ
4. อัตราส่วนวัดความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency Ratio) ใช้วัดความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้หนี้สิน อัตราส่วนนี้เจ้าหนี้ ธนาคาร และผู้ให้กู้ จะใช้ในการประเมินความเสี่ยงจากการได้รับชำระเงินของกิจการ
อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) ประกอบด้วย 2 อัตราส่วนที่สำคัญ ดังนี้
1. อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current Ratio)
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน (เท่า)
หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนนี้ทำให้ทราบว่ากิจการมีสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้กี่เท่าของหนี้สินที่จะต้องชำระภายใน 1 ปี ถ้าอัตราส่วนนี้สูง แสดงว่ามีสภาพคล่องสูงและมีความสามารถชำระหนี้ระยะสั้นได้ดี (ควรมากกว่า 1 เท่า และยิ่งสูงยิ่งดี)
2. อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio)
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว
= สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ – สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น (เท่า)
หนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนนี้แสดงว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว ได้แก่ เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้นและลูกหนี้การค้า เป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน ถ้าอัตราส่วนนี้สูง แสดงว่ามีสภาพคล่องสูง และมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นได้ดี (ควรมากกว่า 1 เท่า และยิ่งสูงยิ่งดี)
อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratio) เป็นอัตราส่วนที่สะท้อนการบริหารโดยรวมของกิจการ ประกอบด้วย 5 อัตราส่วน ดังนี้
1. อัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Profit)
อัตราส่วนกำไรสุทธิ = กำไรสุทธิ x 100 (ร้อยละ)
รายได้สุทธิ(ขาย)
อัตราส่วนนี้แสดงว่ากิจการมีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเป็นกี่ % ของยอดขาย ถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงถึงกิจการมีความสามารถในการหารายได้และควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี (ยิ่งสูงยิ่งดี)
2. อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit)
อัตราส่วนกำไรขั้นต้น = กำไรขั้นต้น x 100 (ร้อยละ)
รายได้สุทธิ(ขาย)
อัตราส่วนนี้ แสดงว่ากิจการมีกำไรขั้นต้นเป็นกี่ % ของยอดขาย ถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่ากิจการมีความสามารถในการควบคุมต้นทุนสินค้าที่ดี และมีโอกาสในการทำกำไรสุทธิดี (ยิ่งสูงยิ่งดี)
3. อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset – ROA)
อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ = กำไรสุทธิ x 100 (ร้อยละ)
สินทรัพย์ทั้งสิ้น
อัตราส่วนนี้แสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ทั้งหมดของกิจการในการดำเนินงานว่าสามารถทำกำไรเท่าใด ถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่ากิจการได้ใช้เงินลงทุนไปในสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ
4. อัตราผลตอบแทนต่อทุน (Return on Equity – ROE)
อัตราผลตอบแทนต่อทุน = กำไรสุทธิ x 100 (ร้อยละ)
ส่วนของเจ้าของ
อัตราส่วนนี้แสดงว่าเงินทุนที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นนำมาลงทุน สามารถทำกำไรได้เท่าใดเป็นกี่ % ของส่วนของเจ้าของ ถ้าอัตราส่วนนี้สูง จะทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและพึงพอใจ
5. อัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (Earning Per Share – EPS)
อัตราส่วนกำไรต่อหุ้น = กำไรสุทธิ (บาท)
จำนวนหุ้นสามัญที่ออกจำหน่าย
เป็นอัตราส่วนที่ผู้ลงทุนประเมินผลกำไรต่อหุ้น และผู้บริหารนำไปพิจารณาจ่ายเงินปันผล
อัตราส่วนวัดประสิทธิภาพ (Efficiency Ratio) เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยใช้สินทรัพย์ต่างๆ บรรลุเป้าหมายในการบริหารหรือไม่ ประกอบด้วย 5 อัตราส่วน ดังนี้
1. อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้ (Receivable Turnover)
อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้ = ยอดขายสุทธิ (รอบ)
ลูกหนี้การค้า
อัตราส่วนนี้ทำให้ทราบว่าใน 1 รอบระยะเวลาบัญชี กิจการมีการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้กี่รอบ หรือกี่ครั้ง ถ้าอัตราส่วนนี้สูง แสดงว่า มีการบริหารลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเปลี่ยนลูกหนี้เป็นเงินสดได้เร็ว ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องที่ดี (ยิ่งสูงยิ่งดี)
2. ระยะเวลาการเก็บหนี้ = 365 (วัน)
อัตราส่วนการหมุนเวียนลูกหนี้
อัตราส่วนนี้ทำให้ทราบว่าโดยเฉลี่ยแล้วลูกหนี้ของกิจการใช้ระยะเวลาเก็บหนี้กี่วัน ถ้าอัตราส่วนนี้สูงจะต้องมีการทบทวนเงื่อนไขการให้สินเชื่อและการติดตามลูกหนี้ เนื่องจากทำให้เสี่ยงต่อการดำเนินงาน และถือว่าไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลูกหนี้ (จำนวนวันยิ่งต่ำยิ่งดี)
3. อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover)
อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ = ต้นทุนขาย (รอบ)
สินค้าคงเหลือ
อัตราส่วนนี้แสดงให้ทราบว่าใน 1 รอบบัญชี กิจการขายสินค้าได้กี่รอบ ถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าสินค้าของกิจการสามารถขายได้เร็ว สะท้อนให้เห็นว่ามีการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ดี และการบริหารการขายดี (ยิ่งสูงยิ่งดี)
4. ระยะเวลาการหมุนสินค้าคงเหลือ
ระยะเวลาการหมุนสินค้าคงเหลือ = 365 (วัน)
อัตราหมุนเวียนสินค้า
อัตราส่วนนี้แสดงให้ทราบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สินค้าที่จัดหามา ใช้เวลาในการขายกี่วัน ถ้าอัตราส่วนนี้ต่ำแสดงว่า มีความสามารถในการขายสินค้าเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ได้เร็ว สะท้อนให้เห็นว่ามีการบริหารการขายที่ดี ทำให้เงินลงทุนไม่จมไปในสินค้าคงเหลือมาก (ยิ่งต่ำยิ่งดี)
5. อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Turnover)
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร = รายได้รวม (เท่า)
สินทรัพย์ถาวรสุทธิ
อัตราส่วนนี้แสดงว่า สินทรัพย์ถาวรทั้งสิ้น ที่ลงทุนไปทุก 1 บาท สามารถสร้างรายได้เท่ากับเท่าใด (ควรมากกว่าหรือเท่ากับ1 เท่า และยิ่งสูงยิ่งดี)
อัตราส่วนวัดความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency Ratio) แสดงถึงความเสี่ยงของเจ้าหนี้ในการให้กู้ยืมเงินและส่วนของเจ้าของในการก่อหนี้ของกิจการ ประกอบด้วย 3 อัตราส่วนที่สำคัญ ดังนี้
1. อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ (Debt to Equity Ratio – D/E Ratio)
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ = หนี้สินรวม (เท่า)
ส่วนของเจ้าของ
อัตราส่วนนี้ทำให้ทราบว่ากิจการมีหนี้สินทั้งสิ้นเป็นกี่เท่าของส่วนของเจ้าของ สะท้อนถึงโครงสร้างเงินทุนของกิจการ ถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่ากิจการจัดหาทุนส่วนใหญ่จากการก่อหนี้ ซึ่งทำให้เจ้าหนี้อาจมีความเสี่ยงในการให้กู้ยืมอีก (ยิ่งต่ำยิ่งดี)
2. อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt to Total Asset Ratio)
อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ = หนี้สินรวม (เท่า)
สินทรัพย์รวม
อัตราส่วนนี้ทำให้ทราบว่ากิจการมีหนี้สินทั้งสิ้นเป็นกี่เท่าของสินทรัพย์รวม สะท้อนให้เห็นโครงสร้างการจัดการสินทรัพย์มาจากการกู้ยืม ถ้าอัตราส่วนนี้ต่ำแสดงว่าเจ้าหนี้สามารถได้รับการชำระหนี้เมื่อครบกำหนดได้ และมีความเสี่ยงในการให้กู้ยืมต่ำ (ยิ่งต่ำยิ่งดี)
3. อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Times Interest Earned Ratio)