ทิศทางเศรษฐกิจโลกคือ การทำมาหากินของผู้คน โดยมีนักอนาคตวิทยา (Alvin Tofler) ได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบได้ดังคลื่นทะเล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ระลอกคลื่น (Wave) คลื่นลูกแรกเรียกว่า เศรษฐกิจการเกษตรแบบชนบทเป็นหลัก (สังคมเกษตร) ซึ่งมนุษย์ผลิตปัจจัย 4 จากคลื่นลูกนี้ (ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย) เมื่อมีความเป็นบ้านเมืองและสังคมแล้ว คลื่นลูกที่ 2 ถัดมาคือเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรม (การผลิตและการตลาด) ทำให้มนุษย์ผลิตสินค้าเหลือกินเหลือใช้ เป็นแรงจูงใจให้เกิดการค้าขายไปทั่วโลก ส่วนคลื่นลูกที่ 3 ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พัฒนามาเป็นการบริการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาศัยเทคโนโลยีและการบริหารสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
เศรษฐกิจโลกและทิศทางในทวีปต่างๆ ที่สำคัญ
1. อเมริกาและยุโรป เคยเป็นหัวรถจักรทางเศรษฐกิจโลก จนกระทั่งการเกิดวิกฤตแฮมเบเกอร์ในอเมริกา ส่วนในทวีปยุโรปเอง ก็มีปัญหา เช่น ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น กรีซ อิตาลีและสเปน ซึ่งมีนิสัยสบายๆ ทั้งรัฐบาลและพลเมืองของเขา ทำให้เกิดการก่อหนี้ภาครัฐจนรายได้ไม่สามารถพอส่งดอกเบี้ยได้ กลายเป็นเหตุการณ์ก่อจารจลวุ่นวาย ใกล้ล้มละลายในระดับต่างๆ และเนื่องจากประเทศยุโรปที่สำคัญ ได้รวมตัวกันเป็นประชาคมและใช้เงินตราร่วมกัน (เงินสกุลยูโร) จึงมีทิศทางว่าจะฉุดดึงให้ซบเซาทั้งทวีปตามสหรัฐอเมริกาไปด้วย
2. กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ มีพระเอกเศรษฐกิจคือประเทศบราซิล ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่สามารถผลิตพืชผลที่เป็นอาหารและพลังงานเลี้ยงชาวโลก (โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟ) ได้บ้าง เมื่อรวมทั้งอาเจนติน่า และเม็กซิโกก็จะมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดี แต่ก็พอแค่ช่วยตัวเองได้เท่านั้นจากการที่เคยเป็นเศรษฐกิจซบเซาอยู่หลายทศวรรต
3. ประเทศในแอฟริกา เริ่มเนื้อหอม เพราะยังมีวัตถุดิบและที่ดินมหาศาล เป็นที่ต้องการของตลาดโลกและประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ มีลูกค้าเก่าคือแถบยุโรป ส่วนลูกค้าหน้าใหม่ที่สำคัญคือ จีน จึงทำท่าว่าจะมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สดใสด้านวัตถุดิบแร่ธาตุและที่ดิน ถ้าสามารถบริหารจัดการการคอรัปชั่น และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างเผ่าต่างๆ ได้ลงตัว
4. ประเทศในกลุ่มอาหรับ ในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มีปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีทิศทางการพัฒนาที่อาจนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” (Arab Spring) คือมีการตื่นตัวเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน (เลียนแบบเรารึเปล่า…ไม่อาจทราบได้) จากผู้นำที่เป็นเผด็จการมีพฤติกรรมกดขี่และคอรัปชั่น ทำให้อาหรับเป็นประชาธิปไตยมีรัฐบาลลดการกดขี่ลงในหลายประเทศ และนำประเทศเข้าสู่การขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจโลกด้านพลังงาน (น้ำมัน) ได้
5. ประเทศเศรษฐกิจหลักในเอเชีย ขณะนี้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นหัวรถจักรทางเศรษฐกิจใหม่ ในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลก มี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซียและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
1. กลุ่มประเทศ BRIC เป็นตัวย่อของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาที่มาแรง ได้แก่ Brazil Russia India และ China ซึ่ง 3 ใน 4 ประเทศนั้นอยู่ในเอเชีย มีพลเมืองและปริมาณเนื้อที่รวมกันไม่น้อย พอที่จะฉุดเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาให้มีแนวโน้มตื่นตัวขึ้นได้อย่างสำคัญ โดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำกำหนดให้ รัสเซีย เป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานและเทคโนโลยีทางเลือก อินเดีย เป็นผู้นำการผลิตด้านบริการผ่านระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยีซอฟแวร์ ส่วนจีนเป็นผู้นำการผลิตสินค้าบริโภคและอุปโภครวมทั้งครุภัณฑ์ในระดับครัวเรือนสำคัญของโลก แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างคือ รัสเซียอาจมีปัญหาที่กำลังเปลี่ยนผู้นำและท่าทีใน WTO อันจะกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจโลกด้วย ส่วนอินเดียมีปัญหาความยากจนภายในและสมรรถภาพราชการ และจีนมีปัญหาเรื่องตลาดส่งออกซบเซา มีระบบเศรษฐกิจที่แพงเกินไปสำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ของตน
2. ASEAN ++ ประมาณปี พ.ศ. 2558 ประเทศอาเซียนกำลังจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่า BRIC มีการผนวกประเทศนอกกลุ่มสำคัญ เช่น ออสเตรเลียและเอเซียอื่นๆ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) จนเป็นที่คาดหวังได้ว่าจะเป็นหัวรถจักรของประชาคมเศรษฐกิจโลกร่วมกับ BRIC ได้
3. ทวีปเอเชียใต้ ประกอบด้วยประเทศขนาดใหญ่และมีศักยภาพไม่น้อย นอกจากอินเดียแล้วยังมี อัฟกานิสถาน (มีศักยภาพด้านแร่หายาก) ปากีสถาน (เทคโนโลยีนิวเคลียร์) และบังกลาเทส (ด้านบริหาร ภาคประชาสังคม) ประเทศเหล่านี้มีสินทรัพย์ติดที่ดินและจำนวนพลเมืองคุณภาพอยู่ไม่น้อย อาจกลายเป็นตลาดเสรีขนาดใหญ่ทดแทนตลาดส่งออกเดิมของไทยได้
4. Old – Tigers กลุ่มเสือแห่งเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นตัวแบบของประเทศที่มีความสำเร็จในการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีวินัยย่านเอเชีย คุณสมบัติเด่นของพลเมืองของประเทศกลุ่มนี้ คือ ใฝ่รู้ ขยันทำงานอย่างมีวินัย เก็บหอมรอมริบด้วยความประหยัด พอเพียงและรักพวกพ้องและครอบครัว เป็นค่านิยมที่ฝรั่งเรียกว่า Confucianism (ลัทธิขงจื้อ) เมื่อตั้งตัวได้จะพัฒนาเป็นเถ้าแก่ได้อย่างรวดเร็ว และนำหน้าใคร ตัวอย่างคือ ประเทศสิงคโปร์
5. SMEs และ Overseas Labours (ธุรกิจขนาดย่อม และแรงงานชุมชนข้ามโพ้นทะเล) ธุรกิจขนาดย่อมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในระดับขั้นพื้นฐานของเศรษฐกิจโลก
ช่องทางและโอกาสการปฏิรูป องค์การการบริหารจัดการทุกระดับ มีเสาหลักที่สำคัญ 5 ประการ คือ
1. ภาครัฐบาลและราชการ ตัวอย่างคือประเทศสิงคโปร์ หรือฮ่องกง ที่มีลักษณะการปรับโครงสร้างรัฐบาลและราชการต่างๆ ให้ปลอดการคอรัปชั่นได้อย่างดีเยี่ยม
2. ภาคการศึกษา ต้องยกเครื่องในมิติต่างๆ ตามแนวทางของผู้นำเศรษฐกิจกลุ่มประชาคมอาเซียน
3. ภาคสุขอนามัย การพัฒนาระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า การขับเคลื่อนโรงพยาบาล และสถานอนามัยในระดับตำบล ทำได้เป็นอย่างดีพอสมควรแล้ว ต่อไปคือ การปลูกฝังแนวทาง สร้างก่อนซ่อม กล่าวคือ ประชาขนในระดับครัวเรือน ควรมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลสุขภาพเชิงเสริมสร้างและป้องกันด้วยตนเองก่อนหวังพึ่งแพทย์และระบบสาธารณสุข
4. สื่อสารมวลชน ควรปฏิรูปและพัฒนาบุคลากรและสถาบันสื่อสารมวลชนสู่มาตรฐานสากล ปลุกความสนใจการใช้สื่อใหม่ (New Media) ต้นแบบคือ สื่อที่นอกจากความบันเทิงแล้วยังเพื่อการศึกษา การพัฒนาสังคม และความรู้เท่าทันของพลเมืองต่อเศรษฐกิจโลก
5. พลเมืองไทย มีสุขภาพและการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ยังติดกับวัตถุนิยมและอยู่ในฐานะผู้เสพมากกว่าผู้สร้างในกระแส “โซ่แห่งคุณค่า” (Value Chain) ซึ่งต้องพึ่งพาเสาหลักทั้ง 4 ประการที่กล่าวข้างต้น
ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย มี 5 ประการด้วยกันคือ
1. การเป็นครัวของโลก ต้องผู้ผลิตอาหารชั้นนำที่สะอาดปลอดภัยและมีประโยชน์ทางโภชนาการตามหลักสากล
2. เป็นแหล่งการผลิตชิ้นส่วนสินค้าคุณค่าเพิ่มสูง ซึ่งโรงงานที่ทันสมัยเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน (Supply Chain) ระดับโลกหลายอุตสาหกรรมอยู่ในเศรษฐกิจไทย ซึ่งให้ Value for money (ความคุ้มค่าแก่เศรษฐกิจโลก) อย่างสำคัญ
3. สินค้าไทยส่งออกในตลาดอย่างสมดุล ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกอยู่มาก และมูลค่าได้กระจายอยู่ในตลาดหลักทั่วโลกด้วยน้ำหนักใกล้เคียงกัน เป็นภาวะที่สมดุลกว่าประเทศอื่น คือ โดยประมาณ ตลาดอเมริกา 20% ยุโรป 20% เอเชียด้วยกัน 20% ญี่ปุ่นและจีนรวม 20% และตลาดอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วโลกอีกรวม 20%
4. ไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับ กระเป๋าและรสนิยม ของคนทั้งโลกทุกฤดูกาลและทั่วทุกภาค เช่น ภาคเหนือมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย ภาคอีสานมีธรรมชาติเขียวขจีและอาหารอร่อย ภาคใต้มีหาดทรายและท้องทะเลชนิดมีแดดได้ทั้งปี และภาคกลางเป็นแหล่งอาหารและช็อปปิ้งที่หลากหลายติดอันดับโลก ประชาชนมีอัธยาศัยดี ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างประทับใจ
5. Medical Hub การเป็นศูนย์การของการแพทย์หลายชนิดที่ไทย สามารถเลือกมาพัฒนาเป็นหัวรถจักรในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างจุดยืนที่โดดเด่นได้ เช่น สมุนไพรและแพทย์ทางเลือก การศัลยกรรมที่สำคัญ โดยมีการบริการทางการแพทย์ทุกระดับ คุ้มค่าเงิน และมีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่มีจำนวน และความชำนาญการหลากหลาย ไม่แพ้ใครในโลก
บทความโดย ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ
ประกอบการอบรม CMU Executive Hospital Management รุ่นที่ 1
บทวิเคราะห์
ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเศรษฐกิจโลก มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งภาวะเศรษฐกิจเกิดจากการพยายามทำมาหากิน และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของแต่ละประเทศ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกในแต่ละภูมิภาค
ในขณะเดียวกัน ในส่วนของภูมิภาคเอเชียของเรา กำลังมีการพัฒนาและเป็นที่คาดหวังอย่างยิ่งในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีประเทศจีน ที่เป็นประเทศมหาอำนาจ และมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ส่วนในเขตที่ใกล้เคียงกับเรา ก็ได้แก่ ประเทศลาว และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายประเทศเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าของตน ในปัจจัยเดียวกันก็คือต้นทุนที่ต่ำ
ในด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากไทยเรามีสัดส่วนการส่งออกที่ค่อนข้างจะสมดุล กล่าวคือมีการกระจายการส่งออกไปทั่วทวีปต่างๆ ในโลก ซึ่งนั่นก็เป็นการกระจายคุณค่าตามแนวคิดของ โซ่แห่งคุณค่า หรือ Value Chain นั่นเอง ส่งผลให้เกิดการเกื้อหนุนและสมดุลในแง่ของเศรษฐกิจโลก โดยมีแนวทางที่น่าสนใจ จากการได้รับคำแนะนำจาก Michael Potter ผู้เชี่ยวชาญแห่งแนวคิด 5 Force Model (แรงขับเคลื่อน 5 ประการที่มีผลต่อองค์กร) ไว้ดังนี้
1. ประเทศไทย มีศักยภาพที่สามารถจะเป็นครัวของโลกได้ (Kitchen of the world) ในบทบาทของผู้ผลิตอาหารชั้นนำ สะอาด ปลอดภัย และมีประโยชน์ตามหลักสากล
2. ประเทศไทยเป็นแหล่งการผลิตชิ้นส่วนสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานและสินค้าทันสมัยมากมาย เพราะคนไทยเรามีฝีมือในด้านนี้มาก จนครั้งนึงมีนักลงทุนกล่าวไว้ว่า คนไทยมีเสน่ห์ที่ปลายนิ้ว (Fingers of Angel) สามารถทำการบัดกรีชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ที่ยากๆ ให้เกิดของเสียน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
3. ประเทศไทยควรรักษาการส่งออกตลาดที่สมดุล เพราะเท่ากับจะเป็นการเกื้อหนุนสภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกในทางหนึ่งด้วย
4. ประเทศไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีวัฒนธรรมที่น่าค้นหา และที่สำคัญสามารถเที่ยวได้ทุกฤดูกาล รวมไปถึงบุคลิกของคนไทยที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
5. ประเทศไทย มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์การของการแพทย์หลายชนิด (Medical Hub) เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านการบริการทางการแพทย์ทุกชนชั้นที่หลากหลายและคุ้มค่าเงิน มีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่มีจำนวนมาก และมีความชำนาญการหลากหลาย ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า แนวโน้มทางด้านทิศทางเศรษฐกิจต่างๆ มีทิศทาง
เป็นอย่างไร เพื่อประกอบการเตรียมการในการที่จะพัฒนาองค์กรให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น