กลยุทธ์มีความสำคัญต่อนักบริหารหลายคน โดยทั่วไปหมายถึง “วิธีทำงานที่ดีที่สุด” ทำให้มีประสิทธิภาพ และได้ประสิทธิผล โดยใช้ทรัพยากรน้อยแต่สร้างผลสำเร็จได้สูง จากการเห็นช่องทางการทำงานที่ดีกว่า
การจัดการเชิงกลยุทธ์ คือการนำเอามุมมองการวิเคราะห์เชิงบูรณาการ โดยนำเอาวิชาการทุกแขนงมารวมปรับเพื่อวางกลยุทธ์การทำงานหรือแก้ปัญหาให้ได้ผลดีกว่า
การคิดกลยุทธ์ที่เป็น ขั้นเชิงการปฏิบัติการ ไม่ง่าย ต้องอาศัยทั้งความรู้ทั้งทฤษฎี ประสบการณ์ทางปฏิบัติ ผสมผสานกับเหตุการณ์ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องตรงกับความเป็นจริงด้วย
การจำแนกกลยุทธ์ มักแยกเป็น 2 ประเภท คือ
1. กลยุทธ์ที่ได้มีการวางแผนเอาไว้แล้ว (Planned Strategy)
2. กลยุทธ์ที่ไม่ได้มีการวางแผนมาก่อน (Unplanned Strategy)
กลยุทธ์ที่มีการวางแผนคิดไว้ก่อนนั้น เมื่อมองข้ามไปสู่การปฏิบัติตามกลยุทธ์แล้ว จะแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ กลยุทธ์ที่ตรงกับที่ตั้งใจจะให้เป็น (Intented Strategy) กับ กลยุทธ์ที่เป็นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ (Unintened Strategy) ก็ได้ และกลยุทธ์ที่มีการวางแผนเอาไว้แล้วนั้น คือ กลยุทธ์ที่คิดไว้ล่วงหน้า เพื่อผลสำเร็จตามที่ต้องการ
ที่มา-หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 10 ฉบับวันอังคารที่ 20 กันยายน 2554
เอกสารจากผู้อำนวยการประกอบการสัมมนาระดับหัวหน้างาน วันที่ 27-28 กันยายน 2554
บทวิเคราะห์
ในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารและองค์กรโดยทั่วไปมักจะค้นหาวิธีการหรือเครื่องมือทางการบริหารเพื่อนำมาใช้กับองค์กรของตน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดของแต่ละองค์กรที่ได้ตั้งใจไว้ในการกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจต่างๆ ในการประกอบธุรกิจขององค์กรตน
การจัดการเชิงกลยุทธ์ หรือการวางแผนกลยุทธ์ เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการบริหารที่แทบจะทุกองค์กร นำมาใช้ในการกำหนดทิศทางในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การวางแผนด้านการตลาดและลูกค้า รวมไปถึงการวางแผนทางด้านการเงินและงบประมาณขององค์กร
การวางแผนกลยุทธ์ ติดอันดับสุดยอดเครื่องมือทางการบริหาร 5 อันดับแรกที่ทุกองค์กรนำมาใช้ในการบริหารงานของตน
ดังนั้น หากเรามีการวางแผนที่ดีในการปฏิบัติงาน ย่อมจะทำให้เราสามารถบรรลุไปสู่เป้าหมายในการทำงานที่ทุกคนต้องการได้อย่างแน่นอน ไม่หลงทาง ไม่สูญเสียทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดโดยไม่จำเป็น.....ศึกษาและวางแผนงานที่จำเป็นในการทำงานกันเถอะครับ รับรองว่าไม่เสียเวลาเปล่าอย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น