Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไมโครซอฟท์ บริษัทที่น่าทำงานที่สุดในโลก


          บทความเสริมสร้างกำลังใจและเคล็ดลับดี ๆ ในการทำงานจากผู้อำนวยการที่แจกให้แก่หัวหน้างานทุกคน
          บริษัท ไมโครซอฟท์ ได้รับการโหวตจากพนักงานบริษัทใน 45 ประเทศทั่วโลกให้เป็นบริษัทอินเตอร์ยอดเยี่ยมที่น่าทำงานที่สุดในโลก (Worlds Best International Workplace) ตามมาด้วย แซส (SAS) ผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์และบริการด้านการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ และเน็ตแอพ (Net App) ผู้ให้บริการจัดหาโซลูชั่นสตอเรจและการบริหารจัดการข้อมูล จากการจัดอันดับของ Great Place to work Institute (สถาบันบริษัทยอดเยี่ยมที่น่าทำงาน) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา





          ลิซ่า บรัมเมล (Lisa Brummel) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบุคคล ของไมโครซอฟท์ ให้สัมภาษณ์ในงานกาล่าดินเนอร์พิธีประกาศผลที่นครนิวยอร์กว่า “ไมโครซอฟท์เป็นที่ทำงานที่ยอดเยี่ยมมิใช่เพียงเพราะสิ่งที่เราทำ
แต่คุณภาพของวัฒนธรรมองค์กรซึ่งพนักงานของเราร่วมกันสร้างขึ้นมา"

          Great Place to Work Institute เป็นบริษัทที่ปรึกษาและจัดอันดับบริษัทที่น่าทำงานในประเทศต่างๆ เผยแพร่ข้อมูลผ่านนิตยสาร Fortune มากว่า 20 ปี สำรวจข้อมูลโดยให้พนักงานบริษัทข้ามชาติที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้ง 350 บริษัท กว่า 2.5 ล้านคน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริษัทที่ตนทำงานอยู่ โดยบริษัทที่เข้าร่วมการประกวดครั้งนี้ ต้องมีพนักงานตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป และต้องมีพนักงานทำงานประจำในต่างปรเทศอย่างน้อย 40% นอกจากนั้นจะต้องติดอันดับในการโหวต 5 ประเทศ จากการสำรวจ 40 ประเทศ ซึ่งมีการหัวข้อในการประกวดที่สำคัญอยู่ 3 ด้าน คือ ความเชื่อมั่น  ความภาคภูมิใจ  และความเป็นมิตรระหว่างเพื่อนร่วมงาน
          Great Place to Work Institute มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือ ต้องการสร้างให้เกิดบริษัทยอดเยี่ยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยการศึกษาตัวอย่างจากบริษัทอื่นๆ (Case study and Best Pratices) ซึ่งค้นพบสถิติที่น่าสนใจของการจะเป็นองค์กรที่ติดอันดับบริษัทยอดเยี่ยมที่น่าทำงาน 100 อันดับแรก เมื่อเทียบกับบริษัทที่อยู่อันดับท้ายๆ 100 แห่ง ดังนี้คือ
          1. มีการเติบโตเร็วกว่าถึง 2 เท่า
          2.  พนักงานขาดงานต่ำกว่า 70%
          3.  มีคนสนใจสมัครเข้าทำงานด้วยมากกว่า 2 เท่า
          4.  สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้มากกว่า
          5.  มีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทสูงกว่า 23%
              ผลที่ได้ความภาคภูมิใจเหล่านี้ ที่มาเกิดจากพนักงานต่างรักองค์กร และให้ใจในการทำงาน
เกินร้อย องค์กรจึงสามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
          จากนี้เอง Great Place to Work Institute ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่สำรวจได้ มาจัดทำเป็นหนังสือ The Great Workplace, How to Build It, How to Keep It and Why It Matters (ที่ทำงานยอดเยี่ยม จะสร้างอย่างไร รักษาแบบไหน และทำไมถึงสำคัญ) เพื่อเผยแพร่หลักคิด โดยองค์กรที่จะเป็นบริษัทสุดที่รักของพนักงานได้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบใหญ่ 3 ด้าน ได้แก่ ความเชื่อมั่น  ความภาคภูมิใจ  และความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงาน
          ความเชื่อมั่น (Trust) คือ การที่พนักงานหรือลูกน้องเชื่อมั่นในตัวผู้บริหารและหัวหน้างาน จากการวิจัยพบว่าพนักงานมีแนวโน้มเลือกเชื่อข่าวสารจากผู้ร่วมงานมากกว่าซีอีโอถึง 70% นั่นคือเชื่อข่าวโคมลอยในบริษัทมาก  ดังนั้นบริษัทต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน เริ่มจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ พนักงานได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการปฏิบัติงานจนบรรลุเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน  เพราะการมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จขององค์กร เพราะทุกคนต่างรู้ขอบเขต บทบาท และหน้าที่ของตน 
ตัวอย่างวิธีการสื่อสารของซีอีโอ
          ซีอีโอของกูเกิล จัดให้มีการประชุม TGIF (Thank Google Its Friday) ทุกวันศุกร์ตอนบ่าย เพื่อให้ซีอีโอได้สรุปความเคลื่อนไหวที่สำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกเล่าผ่านการประชุมในห้องประชุมใหญ่และวีดีโอลิงค์ถึงพนักงานทุกคนใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถเข้าไปชมและแชทถามคำถามได้
          บริษัทในไทย บริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด และบริษัท ไทยร่วมใจน้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันรำข้าว “คิง” ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดอยุธยา ในช่วงวิกฤติการณ์น้ำท่วม ต้องปิดโรงงานชั่วคราว  ผู้บริหารของบริษัท สนับสนุนเงินช่วยเหลือให้กับพนักงาน และตัดสินใจให้โบนัสประจำปีพนักงานล่วงหน้าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นความห่วงใยกับพนักงานที่ทรัพย์สินเสียหาย และพนักงานบางคนยังช่วยกันดูแลรักษาโรงงานให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม

           ความภาคภูมิใจ (Pride) ในงานที่ตนทำอยู่ ผลงาน ทีมงานและบริษัท เมื่อบรษัทผลิตสินค้าและบริการที่ดี รักษาสิ่งแวดล้อมช่วยเหลือสังคม ดำเนินนโยบายแบบโปร่งใส ก็จะทำให้พนักงานมีความภูมิใจกับงานที่ทำ และทำงานกันอย่างเต็มที่ ผู้บริหารก็จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ผลงานและกิจกรรมทางสังคมที่บริษัททำ ให้พนักงานรับทราบ
ตัวอย่างการทำเพื่อสังคมของบริษัท
          บริษัท Genentech ซึ่งวิจัยและผลิตยาเพื่อรักษาโรคที่รักษายาก ผู้บริหารประชาสัมพันธ์ภาพขนาดใหญ่ของผู้ป่วยและพนักงานที่พยายามทำงาน เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้นตามผนังต่างๆ ในสำนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนตระหนักอยู่เสมอว่าบริษัทสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคม และพวกเขาจะทำงานเต็มที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ยาที่ดีกับคนทั่วโลกต่อไป
           ความเป็นมิตรระหว่างเพื่อนร่วมงาน (Camaraderie) คนส่วนใหญ่สมัครงานเพราะรักและชอบบริษัทหรือสินค้าและผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อทำงานไป พบว่ามีปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือมีปัญหากับห้วหน้างานทำให้สุดท้ายตัดสินใจลาออกไป  ดังนั้นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการภายในใจของพนักงานก็คือ บรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนในทีม รวมถึงคนในแผนกต่างๆ เหล่านี้คือความสัมพันธ์ระดับบุคคลที่พนักงานแต่ละคน
           “เพราะพนักงานคือ ทรัพยากรที่ล้ำค่าของบริษัท หากพนักงานรักองค์กรให้ใจเต็มร้อยกับองค์กรแล้ว ความสำเร็จของบริษัทก็อยู่แค่เอื้อม”

บทวิเคราะห์
          บทความนี้ได้ให้อะไรกับเราบ้าง
          ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือองค์กรที่ยิ่งใหญ่ หรือมีมูลค่าธุรกิจมหาศาลมากมายเพียงใด ไม่ได้เกิดจากความสามารถของตัวองค์กรเอง หากเพียงแต่อยู่ที่พนักงานทุกๆคน ในองค์กรต่างหาก ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ความก้าวหน้า ความเจริญเติบโต และความยั่งยืนมาสู่องค์กร  ตัวอย่างของบริษัท ไมโครซอฟท์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของพนักงาน และสามารถสร้างความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจแก่พนักงานว่าหากพนักงานได้ทำงานด้วยแล้วจะมีความมั่นคง และมีความก้าวหน้า เช่นเดียวกันกับการให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรของผู้บริหาร ที่ไม่ปิดกั้นความคิดเห็นของพนักงานทุกๆ ระดับ นั่นก็ช่วยส่งเสริมให้พนักงานเกิดความรู้สึกมีสมดุล ในชีวิตการทำงาน และรักองค์กร จนไม่อยากจะจากไปไหน ทำงานด้วยแล้วมีความสุข
          สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้เราเห็นได้ว่า หากเรามีความเชื่อมั่นในองค์กร และร่วมมือกันปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถแล้ว รวมถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงานร่วมกัน ก่อเกิดความเป็นทีมในการทำงานร่วมกันแล้ว  แน่นอน สิ่งที่ตามมาก็คือความผูกพันธ์และรักองค์กรของพนักงานทุกคนนั่นเอง และสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันให้องค์กรมีความเติบโต ก้าวหน้า และมีความมั่นคงในอนาคตต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น