Powered By Blogger

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำงาน “เก่ง” VS ทำงาน “เป็น”

          ในการพัฒนาและดูแลทีมงาน มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่หลายสิ่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ผู้ฝึกสอนงาน (Coach) และผู้ที่คอยให้คำปรึกษาชี้แนะแก่บรรดาลูกทีม (Mentor)
          ซึ่งสามารถสรุปถึงความแตกต่างระหว่าง Coach และ Mentor ที่สำคัญได้คือ คนหนึ่งสอน งานอีกคนหนึ่งสอน ทาง
          Coach ในที่ทำงาน มีบทบาทหลักคล้ายโค้ชกีฬา ที่ทั้งสอนทั้งสั่ง เพื่อให้ลูกทีมเรียนรู้และเพิ่มทักษะในภารกิจที่ทำ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประสบความสำเร็จในงาน  ผลที่ได้ก็คือ  คนทำงาน เก่ง
          Mentor คือ ผู้ที่ช่วยให้คนคิดทะลุ มองภาพใหญ่ เนื้องานเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะชีวิตคนทำงาน ต้องมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการวางตน รู้หนทางเติบโต ตลอดจนแกร่งพอที่จะแก้อุปสรรคที่ต้องเจอได้  โดย Mentor จะทำหน้าที่เป็นคู่คิด  เป็นที่ปรึกษา  ชี้แนะทางสู่ความสำเร็จในชีวิต  ผลที่ได้ก็คือ คนทำงาน เป็น”      Mentor จึงอาจจะไม่ใช่หัวหน้างานโดยตรง แต่เป็นผู้อาวุโสอื่น  หรืออาจจะเป็นคนภายนอกองค์กรก็ได้
          คนทำงาน เก่งแต่ทำไม่ เป็นไปที่ไหนก็มักจะวงแตก  หรือทำตัวแปลกแยก เก่งคนเดียว พฤติกรรมก้าวร้าว สร้างแต่ศัตรู หรือในทางตรงข้าม สู้ไม่เป็น เห็นอุปสรรคแล้วท้อ  ยามที่ต้องรุก ก็ขอรับ  ยามที่ต้องรับ กลับถอยไม่เป็นกระบวน
          คนทำงาน เป็นคือ คนที่รู้กาละเทศะ รู้หนัก รู้เบา รู้เร็ว รู้ช้า  ตามสถานการณ์ แกร่งโดยไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว อ่อนน้อมแต่ไม่อ่อนแอ  ชาญฉลาดในการแก้อุปสรรค  ทั้งรู้ตัวตนว่าเป็นคนอย่างไร มีจุดอ่อนที่ไหน อนาคตอยากก้าวไปจุดใด
          การที่คนหนึ่งคนจะทั้งเก่งและเป็น  ต้องใช้เวลา  ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด เพราะขาดประสบการณ์ หลายครั้งต้องแลกด้วยน้ำตากว่าจะถึงเส้นชัย

          ดังนั้น การให้ความสำคัญถึง Mentor ให้กับลูกทีม นอกจากจะทำให้คนทำงาน เป็นแล้ว ยังมีความรู้สึกดีๆ ว่าหัวหน้าและองค์กรใส่ใจดูแล ไม่ใช่สั่งงานให้ทำกันจนตายไปข้างหนึ่ง
          การได้ คนทำงาน เป็นที่มีมุมมองทั้งสมดุลย์และกว้างไกล พร้อมทุ่มเทให้ เพราะประโยชน์ที่ได้มีทั้งต่อตัวเอง ต่อทีม และองค์กร  สุดท้ายจะเป็นคนที่มีคุณภาพ ให้กับสังคมต่อไป

ที่มา-กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 29 สิงหาคม 2554
เอกสารจากผู้อำนวยการประกอบการสัมมนาระดับหัวหน้างาน วันที่ 27-28 กันยายน 2554

บทวิเคราะห์
          ทุกคนล้วนอยากจะเป็นคนที่เก่ง และประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานของตน แต่การที่เป็นเพียงแค่คนเก่ง ซึ่งเก่งแต่งานอย่างเดียว โดยหลงลืมคิดถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน  ลูกน้อง  หัวหน้า  และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อาจจะทำให้เรามีอุปสรรค จากกำแพงต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
          การมีจิตวิทยาที่ดีในการทำงาน ซึ่งจะส่งเสริมให้เรา เป็นคนที่ทำงานเป็น รู้จังหวะและเวลา ตามสถานการณ์ เข้ากับผู้ร่วมงานได้เก่ง เจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะประสบความสำเร็จ เพราะเราได้เรียนรู้ และเข้าหาผู้อื่น ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ “เป็น”
          ดังนั้น การทำงานให้ประสบความสำเร็จ จึงไม่ได้อยู่ที่การ “เก่งงาน” แต่เพียงอย่างเดียว หากเพียงแต่ในบางโอกาสเราจำเป็นต้อง “เก่งคน” ด้วย คือรู้จักเข้าหาผู้อื่น ได้อย่างถูกจังหวะและเวลาตามสถานการณ์ ดังที่บทความได้กล่าวไว้ข้างต้น  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นศิลปะในการทำงาน ซึ่งต้องอาศัย เวลาและประสบการณ์ในการฝึกฝน และดีที่สุดคือ การหา Mentor ดีๆ ไว้คอยช่วยในการทำงาน เพราะอย่าลืมว่า เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว รับปัญหาเพียงคนเดียวในการทำงาน เรายังมีผู้ร่วมงาน ทีมงาน และหัวหน้างานให้ช่วยคิด ให้คำแนะนำ ส่งเสริมเราให้สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายในการทำงานที่เราต้องการได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น