Powered By Blogger

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์ ผู้เชื่ยวชาญด้านศาสตร์ผู้บริโภค สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในเครือ บมจ.ซีพี ออลล์

           ปัจจุบันผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีสิทธิเลือกสินค้าได้อย่างเสรีทั้งในด้านคุณภาพและราคา การเรียนรู้และพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ในยุคโลกไร้พรมแดนกระทำได้ง่าย ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก ซึ่งมักจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา ด้วยเหตุนี้ ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจหลายประเทศ จึงหลีกเลี่ยงการผลิตสินค้าที่ต้องต่อสู้ด้วยราคาเป็นหลัก และหันมาส่งเสริม การดำเนินนโยบาย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)” ซึ่งถูกเผยแพร่ครั้งแรกโดย Mr.John Howkins บิดาแห่งแนวคิดนี้ ในหนังสือที่มีชื่อว่า “The Creative Economy : How People Make Money from ideas”
          หัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดหรือแนวปฏิบัติที่สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนัก แต่ใช้ความคิด สติปัญญา และความสร้างสรรค์ให้มากขึ้นเท่านั้นเอง
          Mr.John Howkins ได้พูดถึงแนวโน้มใหม่ของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไว้ว่า ผู้บริโภคยุคนี้ จะชอบการตลาดแบบไม่ยัดเยียด ที่มีการแฝงโฆษณาเข้าไปในเนื้อหาการสืบค้น แต่รับได้กับโฆษณาที่เชื่อมโยงเนื้อหาของผลิตภัณฑ์เข้ากับเนื้อหาสร้างสรรค์ได้ อย่างแนบเนียนหรือชาญฉลาด ตรงกับความต้องการในใจและการค้นหาของผู้บริโภค ไม่ใช่การโฆษณาเปิดเผยจุดมุ่งหมายในใจอย่างโจ่งแจ้งโล่งโจ้ง
          เพราะฉะนั้นเนื้อหาที่มีศิลปะในการถ่ายทอด ทำให้ผู้บริโภคไม่อาจปฏิเสธและต้อนรับสินค้าอย่างอบอุ่น เนื่องจากเพราะโฆษณาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงขยะข้อมูลที่รบกวนความสงบสุขในชีวิต แต่กลับสร้างสุนทรียะแปลกใหม่ที่งดงามละเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต (Lifestyle)
          นอกจากนี้แล้ว ผู้บริโภคยุคนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์เรื่องเล่า ชอบการนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีศิลปะ มีเสน่ห์ น่ารัก สร้างความสัมพันธ์และมิตรภาพกับผู้บริโภคอย่างล้ำลึกและยาวนาน นอกจากเรื่องคุณภาพและนวัตกรรมสินค้า ยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายตนเองได้จากการทุ่มเทเวลาเพื่อ เพิ่มคุณค่าสร้างสรรค์ (Creative Value) เข้าไปในตัวผลิตภัณฑ์
          ผู้บริโภคยุคนี้ จะรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่ไว้ใจได้เท่านั้น เนื่องจากการโฆษณาแบบเก่าได้หมดความน่าสนใจลงแล้ว และการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ยังมีประสิทธิภาพลดลง  ดังนั้นการใช้สื่อใหม่ เช่น บริการ Social Media คือ การส่งข้อความถึงผู้บริโภคแบบโดนใจด้วยแหล่งที่ไว้ใจได้และเป็นจุดตั้งต้นในการบอกต่อกันไปของผู้บริโภค เนื้อหาจึงต้องมีความละเอียดอ่อนในการปรับให้เหมาะสมกับ Social Media ที่แตกต่างกันไป
          ผู้บริโภคยุคนี้ มีความต้องการเนื้อหาสาระที่สร้างสรรค์ สดใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื้อหาสาระต้องโดดเด่นในการเรียกร้องความสนใจ เช่น รายงานข่าวที่รวดเร็ว ละครน้ำเน่าที่เรียกน้ำตานองหน้าได้ หรือแม้กระทั่งสารคดีที่สาระและความสนุกกลมกลืนกันไป 
          ดังนั้น ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ในการนำเสนอสินค้าและบริการให้ถูกรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องช่วงชิง และต้องทบทวนกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์สินค้าของตน เพื่อวางกลยุทธ์แปรเปลี่ยนคุณค่ารูปธรรมของสินค้า ให้กลายเป็นความรื่นรมย์ในจิตใจผู้บริโภค
          การเติมเต็มคุณค่าสร้างสรรค์เข้าไปในผลิตภัณฑ์ของบริษัท จะทำให้มีลูกเล่นใหม่ๆ ที่สามารถมาดึงดูดใจผู้บริโภค และสามารถสร้างความเจริญเติบโตให้แก่บริษัทต่อไป
         
ที่มา-หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 30 ฉบับวันอังคารที่ 20 กันยายน 2554
เอกสารจากผู้อำนวยการประกอบการสัมมนาระดับหัวหน้างาน วันที่ 27-28 กันยายน 2554
         
บทวิเคราะห์
          เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ทุนทางปัญญา ในการเชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี สังคมและความเป็นอยู่  เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม
          ด้วยเหตุนี้ ในยุคสมัยที่ความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากว่าเราไม่สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ จะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่ง และไม่สามารถก้าวหน้าและเติบโตต่อไปได้
ดังนั้นหากเทียบกับส่วนงานของเราแล้ว คงจะถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเติมคุณค่าด้วยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับผลงานของเราทุกคน เพื่อให้สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับผลงานของเรา นั่นก็คือ ผู้บริหารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการปฏิบัติงานของเรา เพื่อให้สมกับสิ่งที่เราต้องการจะเป็น “นักบัญชีสมัยใหม่” ต่อไปในอนาคต....สู้สู้ครับทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น