ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วที่ได้กล่าวถึง ความหมายของการบัญชี วัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชี และรูปแบบของข้อมูลทางบัญชี คราวนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับ การบัญชีการเงิน ดังนี้
การบัญชีการเงิน (Financial Accounting)
การบัญชีการเงิน (Financial Accounting)
มีหลักเกณฑ์ในการจัดทำบัญชี ดังนี้
1. การบัญชีการเงิน ใช้สำหรับบุคคลหลายฝ่าย มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ดังนั้นต้องจัดทำภายใต้หลักการบัญชีที่ยอมรับทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principles : GAAP) และเป็นไปตามกฎหมาย
2. ใช้หลักการตามมาตรฐานการบัญชี (Accounting Standards) และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Financial Reporting Standards) ในการจัดทำบัญชีและการนำเสนอรายงานการเงิน
3. จัดทำบัญชีและนำเสนอรายงานทางการเงินตาม กรอบของ แม่บทการบัญชี (Accounting Framework) โดยมีหลักเกณฑ์พื้นฐาน ได้แก่
· การดำรงอยู่ ถือว่ากิจการมีการดำเนินกิจการอยู่อย่างต่อเนื่อง
· เกณฑ์คงค้าง เป็นการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายทันที โดยไม่คำนึงถึงเงินสด
· จัดทำโดยถูกต้องตามควรและทันเวลา
เป็นรายงานทางการเงิน (Financial Statement) นำเสนอฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการอย่างมีแบบแผน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการ มีงวดบัญชี หรือ ความถี่ในการรายงาน ที่นำเสนองบการเงินอาจเป็น 1 เดือน ไตรมาส ครึ่งปี หรือ 1 ปี
องค์ประกอบของงบการเงินฉบับสมบูรณ์
งบการเงินฉบับสมบูรณ์ ต้องประกอบไปด้วย รายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) แสดงถึงฐานะการเงิน ณ วันสิ้นงวด ว่ากิจการมีขนาดเท่าใด ประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน (เดิมเรียกว่า งบดุล)
2. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Statement of Comprehensive Income) แสดงถึงผลการดำเนินงานประจำงวด ประกอบด้วย รายได้ ค่าใช้จ่าย ผลกำไรหรือขาดทุนสำหรับงวด รวมถึงรายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ซึ่งไม่ได้รับรู้เป็นกำไรขาดทุนสำหรับงวด อาทิเช่น การตั้งราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากราคายุติธรรม การประมาณการราคาหุ้นที่กิจการซื้อขายในราคายุติธรรม ณ ช่วงเวลาสิ้นงวด เป็นต้น
3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ (Statement of Change in Owner’s Equity) เป็นงบที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวในส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นของกิจการ สำหรับงวด ให้ทราบว่าผู้ถือหุ้นนำเงินมาลงทุนเท่าใด ได้รับผลตอบแทน และมีกำไรเหลือเท่าใด
4. งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow) แสดงการเคลื่อนไหวของเงินสดของกิจการประจำงวด ว่ามีการรับและจ่ายเงินสดในกิจกรรมใด จำนวนเท่าใด
5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดของตัวเลขในงบการเงิน เช่น นโยบายการบัญชีที่ใช้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ไม่เป็นตัวเงิน เป็นต้น
กระบวนการจัดทำบัญชี
เมื่อเกิดรายการค้าเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการรับ จ่ายเงิน หรือรายการซื้อ ขายสินค้า กิจการต้องมีการจัดเก็บรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับรายการค้านั้นๆ อาทิเช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบกำกับภาษี ฯลฯ จากนั้นนำเอาเอกสารหลักฐานดังกล่าว ไปลงบันทึกในสมุดรายวันขั้นต้น แล้วแต่ประเภทของกิจการอาจจะเป็น สมุดเงินสด หรือสมุดรายวันเฉพาะ (สมุดรายวันซื้อ, สมุดรายวันขาย, สมุดรายวันทั่วไป เป็นต้น) จากนั้นนำรายการต่างๆ มาจัดทำการบันทึกในสมุดบัญชีแยกประเภท 5 หมวด ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ได้แก่ หมวดสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ และค่าใช้จ่าย ให้ถูกต้องตามแต่ละประเภท จากนั้นจึงทำการรวบรวมหมวดบัญชีต่างๆ เข้าสู่การจัดทำงบทดลอง งบกำไรขาดทุน และงบดุลต่อไป โดยทั้งนี้การจัดทำรายการบัญชีต่างๆ ต้องจัดทำให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปด้วย
ประเภทของการรายการทางบัญชี ประกอบด้วย 5 ประเภท ดังนี้
1. สินทรัพย์ (Asset) หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นในอดีต และกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต ประกอบไปด้วย
1.1. สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset) เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคตภายใน 1 ปี ได้แก่
· เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
· ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ
· เงินลงทุนระยะสั้น
· เงินให้กู้ยืมระยะสั้น
· สินค้าคงเหลือ
· ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า
1.2. สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non Current Asset) เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคตมากกว่า 1 ปี และเป็นสินทรัพย์อื่นใดที่ไม่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ได้แก่
· เงินลงทุนระยะยาวและเงินลงทุนกิจการในเครือ
· เงินให้กู้ยืมระยะยาว
· อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (Investment property) เช่นการนำเอาอาคารและที่ดินไปให้เช่า
· ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (Property Plant and Equipment) เป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน ใช้ในการดำเนินงานก่อให้เกิดประโยชน์เกิน 1 ปี จะหมดประโยชน์โดยการคิดค่าเสื่อมราคา ตามอายุการใช้งานที่กำหนดในนโยบายบัญชีของกิจการ
· สินทรัพย์อื่น ได้แก่ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น ลิขสิทธิ์ สัมปทาน เฟรนไชนส์
2. หนี้สิน (Liabilities) หมายถึง ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานในอดีต โดยจะชำระสินทรัพย์ในอนาคต ประกอบด้วย
2.1. หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) เป็นภาระผูกพันที่ต้องชำระภายใน 1 ปี ได้แก่
· เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร
· เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย
· หนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีถัดไป
2.2. หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non Current Liabilities) เป็นภาระผูกพันที่กิจการต้องชำระเกิน 1 ปี ได้แก่
· หุ้นกู้ เงินกู้ระยะยาว
· หนี้สินอื่น เช่น หนี้สินประมาณจากการให้ประกันสินค้าแก่ลูกค้า
3. ส่วนของเจ้าของ (Owner’s Equity) หมายถึง ส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์ของกิจการ หลังจากหักหนี้สินออกแล้ว ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด จะมีโครงสร้างของส่วนของเจ้าของ ดังนี้
· ทุนเรือนหุ้น (Capital Stock) เป็นทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว
· ส่วนเกิน (ส่วนต่ำ) มูลค่าหุ้น (Premium or discount on share capital) เป็นส่วนเกินหรือส่วนที่ต่ำกว่ามูลค่าจากการจำหน่ายหุ้นราคาที่ตราไว้ให้แสดงเป็นแยกของหุ้นแต่ละชนิด (หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ์)
· กำไรสะสม (Retained earnings) เป็นกำไรที่ได้จากการดำเนินงานสะสม ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน หักด้วยเงินปันผลที่จ่ายออกไป (เงินปันผลจะจ่ายได้ตามกฎหมาย ต้องมีกำไรสะสม)
· องค์ประกอบอื่นของส่วนผู้ถือหุ้น (Other components of equity)
4. รายได้ (Revenue) หมายถึง รายได้ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมตามปกติของกิจการ และรายการกำไร ซึ่งแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชี ที่ส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น ประกอบไปด้วย
· รายได้จากการดำเนินงาน เป็นรายได้หลักของกิจการ เช่น ค่าขายสินค้า
· รายได้อื่น เป็นผลพลอยได้อื่นจากการดำเนินกิจการ เช่น ดอกเบี้ยรับ กำไรจากการขายสินทรัพย์ เป็นต้น
5. ค่าใช้จ่าย (Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมตามปกติของกิจการ และรายการขาดทุน เป็นการแสดงรายการลดลงของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชี อันจะส่งผลให้ส่วนของเจ้าของลดลง ค่าใช้จ่ายประกอบไปด้วย
· ต้นทุนสินค้าที่ขาย/การให้บริการ
· ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน สามารถแยกเป็น
· ค่าใช้จ่ายทางการตลาด เช่น เงินเดือนฝ่ายการตลาด ค่าส่งเสริมการขาย
· ค่าใช้จ่ายบริหาร เช่น ค่าเงินเดือน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
· ค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ขาดทุนจากการขายสินทรัพย์
· ต้นทุนทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ยจ่าย และค่าธรรมเนียมธนาคาร
ความสัมพันธ์ของรายการบัญชี
สามารถอธิบายได้ตามสมการบัญชี ดังนี้
สินทรัพย์ = หนิ้สิน + ส่วนของเจ้าของ
รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ + กำไร
การจัดทำงบการเงิน มีขั้นตอนดังนี้
1. จัดทำงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ซึ่งประกอบด้วย
· รายได้ ได้แก่ รายได้จากการดำเนินงาน รายได้อื่น
· ค่าใช้จ่าย ได้แก่ ต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
· กำไร(ขาดทุน) ระหว่างงวด คำนวณได้จาก รายได้รวม – ค่าใช้จ่ายรวม
· สินทรัพย์ ได้แก่ สินทรัพย์หมุนเวียน และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
· หนี้สิน ได้แก่ หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน
· ทุน ได้แก่ ทุนเริ่มต้น + กำไรสะสมยกมา + กำไรระหว่างงวด
3. งบกระแสดเงินสด แสดงเฉพาะรายการที่เกี่ยวกับการรับและจ่ายจากเงินสด จัดทำจากงบกำไรขาดทุนและงบแสดงฐานะการเงิน ประกอบด้วยกิจกรรม 3 กิจกรรมในการดำเนินงาน ดังนี้
· กิจกรรมจากการดำเนินงาน
· กิจกรรมจากการลงทุน
· กิจกรรมจากการจัดหาเงิน
4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในงบการเงิน ดังนี้
· การบอกถึง นโยบายการบัญชีที่สำคัญ เช่น วิธีการตีราคาสินค้าคงเหลือ (FIFO, Average) วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ (วิธีเส้นตรง, วิธีลดลงทุกปี เป็นต้น)
· ภาระผูกพันต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ
· รายการระหว่างกิจการที่เกี่ยวข้องกัน
· รายการที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
· รายการหลังวันที่ในงบดุล
การอ่านและวิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้น
1. การอ่านงบแสดงฐานะการเงิน
· สินทรัพย์เพิ่มแสดงว่ากิจการขยายตัว
· สินทรัพย์หมุนเวียนมีมากแสดงว่ามีสภาพคล่อง
· หนี้สินมากกว่าส่วนทุนแสดงว่ามีความเสี่ยง
· หนี้สินหมุนเวียนมากแสดงว่ามีภาระที่จะครบกำหนดในงวดบัญชี แต่หากเทียบกับสินทรัพย์หมุนเวียน ถ้ามีสินทรัพย์มากกว่า ยังถือว่ามีสภาพการเงินที่ดีอยู่
· ส่วนทุนมีผลกำไรสะสมมากแสดงถึงความมั่งคั่ง ถ้าขาดทุนมากแสดงว่าประสบปัญหาในการดำเนินงาน
2. การอ่านงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ให้ดูแต่ละรายการที่แสดงความสามารถในการทำกำไรว่าเกิดจากส่วนใดรายได้ หรือค่าใช้จ่ายและต้นทุนขาย
3. การอ่านงบกระแสเงินสด ให้ดูการใช้จ่ายเงินว่า มีความถูกต้องในแต่ละกิจกรรม หรือมีการใช้ไม่เหมาะสมหรือไม่ เช่น มีการกู้ยืมเงินระยะสั้น มาลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ถือว่าเป็นกิจกรรมการจัดหาเงินทุนที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ใช้ระยะนานกว่าจะทำให้คืนทุนได้ จึงควรมีการพิจารณาในการกู้ยืมเงินระยะยาว หรือจัดหาเงินทุนด้วยวิธีอื่น โดยให้คำนึงถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุด
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ตอบลบ