Powered By Blogger

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

องค์ประกอบของธุรกิจ : ทำอย่างไรให้บริษัท มีผลกำไร? (1)

องค์ประกอบของธุรกิจ : ทำอย่างไรให้บริษัท มีผลกำไร?
          องค์ความรู้ที่สำคัญ หรือเรียกได้ว่า หากต้องการให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ แล้วล่ะก็ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญด้วยกัน 6 ประการ ซึ่งในที่นี้จะขอนำเสนอพอสังเขป  ดังนี้ คือ
1.      การบัญชี (Accounting)
มีความสำคัญ ในการช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการประกอบธุรกิจของ
องค์กร ว่ามีการลงทุนไปเท่าใด(Investing) มีความสามารถในการทำเองได้เท่าใด (Operating) และองค์กร ได้เงินทุนมาจากไหน (Financing)  โดยการบอกผ่านเรื่องราวต่างๆ ด้วย งบการเงิน ได้แก่ งบกำไรขาดทุน (Income Statement) ช่วยบอกถึงรายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน  งบดุล (Balance Sheet) ช่วยบอกฐานะทางการเงินว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนในสัดส่วนเท่าใด  และงบกระแสเงินสด (Cash Flow) อันจะบอกถึงเงินสดที่ได้จากการดำเนินงาน  เงินสดที่ได้จากการลงทุน และเงินสดที่ได้จากการจัดหา
          โดยมีการบัญชีเพื่อการบริหาร (Management Accounting) เป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้บริหารในการประกอบการตัดสินใจในการวางแผนขององค์กร ซึ่งความหมายของการบัญชีเพื่อการบริหาร คือ กระบวนการการจำแนก วัด ประมวล วิเคราะห์ เตรียม แปลผล และสื่อสารข้อมูลเพื่อใช้ในกิจกรรมการจัดการอันได้แก่  การวางแผน  การประเมิน และการควบคุมภายใน และเพื่อให้แน่ใจว่าเกิดการใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างเหมาะสมและตรวจสอบได้

 2.  การบริหารการเงิน (Financial Management)
          การบริหารการเงิน มีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
1.    ให้เข้าใจถึงสถานะขององค์กร (Understanding status) สุขภาพขององค์กร (Health) โดยการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง  เป้าหมาย และผลการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา ด้วยการใช้การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio analysis) ช่วยในการวิเคราะห์
2.   ใช้ในการวางแผนทางการเงิน (Making financial plan) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดหาเงินทุน แหล่งเงินทุน และการจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนให้เกิดความคุ้มค่าคุ้มทุนมากที่สุด
3.  ใช้ในการจัดโครงสร้างการลงทุน (Designing capital structure) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีต้นทุนเงินทุนที่ต่ำที่สุด (Lowest cost of fund) รักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Optimal D/E Ratio) ให้ต่ำที่สุดเพื่อให้เกิดความเสี่ยงที่น้อยที่สุด
4. ใช้ในการตัดสินใจในการลงทุน (Making investment decision) ด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน (Feasibility study)  การศึกษาถึงต้นทุนและผลตอบแทนจากการลงทุน (Cost and Returns of a project)
5.   ใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Managing risk)  ด้วยการศึกษาการประกันความเสี่ยงต่างๆ ของค่าเงินในการลงทุน การศึกษาถึงโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะความเสี่ยงต่างๆ (Likelihood and Impact)

 3.  การบริหารการปฏิบัติการ (Production and Operations Management)
          สิ่งที่ดีที่สุดของการปฏิบัติการที่ดีก็คือ  การทำให้เกิดต้นทุนในการผลิตที่ต่ำที่สุด  และผลลัพธ์ที่ผลิตออกมามีมากที่สุด  โดยทั้งหมดจะต้องให้เกิด ประสิทธิผลที่ดีมีคุณภาพ
          การมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีของกระบวนการ (Efficiency and Effectiveness of Process) ก็คือ การสามารถทำอย่างประหยัดและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตรงตามเป้าหมายมากที่สุดในกระบวนการนั้นๆ ที่ต้องการ  โดยทั้งหมดก็เพื่อมุ่งสู่คุณภาพของสินค้าและบริการ (Quality of Products and Services) ที่ส่งมอบต่อให้แก่ลูกค้า ให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด ผ่านกระบวนการบริหารจัดการช่องทางการส่งมอบ (Supply Chain Management) หรือการจัดการห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) นั่นเอง

แล้วมาตามต่อกันในองค์ประกอบที่เหลือในบทความหน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น