Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เล็กๆ น้อยๆ สำหรับการเลือกซื้อโน้ตบุ๊คใหม่

ตอนนี้ เชียงใหม่เราก็จะมีงานคอมฯ อีกแล้ว รู้สึกว่าจะมีวันที่ 3 -6 พฤศจิกายน 2554 นี้แล้วล่ะมั้ง  ที่หอประชุม มช. เช่นเคย
          พอถึงงานคอมฯ ทีไร อดไม่ได้ทุกทีเลย ที่จะต้องแวะไปดู ไปหาเลือกซื้อ อุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ไว้ใช้กับคอมฯ ของตัวเอง Mp3 Mp4 ว่ากันไปปะปราย รวมถึงการแวะดูโน้ตบุ๊ดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
          วันนี้ก็เลยเอาบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การเลือกซื้อโน้ตบุ๊ค ให้คุ้มค่าและโดนใจเรามากที่สุด มีวิธีง่ายๆ ดังนี้ครับ

     1. สำรวจงบประมาณของตนเอง  สำคัญเลยครับข้อแรก ถ้าข้อแรกไม่ผ่านนะ ไม่ต้องไปดูข้ออื่นๆ แล้ว อย่าว่างั้นงี้เลย สมัยนี้งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญครับ แต่ ณ ปัจจุบันอาจจะโชคดีซะหน่อยที่ ราคาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค มีราคาที่ลดลงพอจะจับต้องกันได้บ้าง เอาเป็นว่าเริ่มต้นประมาณ 18,000 บาท ถึง 30,000 กว่าบาทกันเลยทีเดียว  ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการจับจ่ายครับ
     2. เมื่องบประมาณมีแล้ว  ทีนี้ก็มีความมั่นใจหน่อยละ ลุยเลย ขึ้นต่อไปต่อไป แล้วจะเอายี่ห้ออะไรดีล่ะ   อันนี้แล้วแต่จะชอบครับ แต่ถ้าจะให้แนะนำล่ะก็ ดูที่การใช้งานก่อนไหมครับ  เราจะซื้อไปทำอะไรเอ่ย?????  เสนอไป 2 สถานการณ์แล้วกัน
     -  ทำงาน = สเปคเครื่องอาจจะไม่ต้องสูงมาก ราคาก็จะไม่แพงพอสู้ไหวก็ได้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยครับ 18,000 บาท สำหรับ CPU Core 2 Duo ที่เมื่อก่อนดังๆ นั่นแหละเยี่ยมยอดเกินพอแล้วครับ  อีกอย่างที่ควรดูครับ คือ แบตเตอรี่ ใช้งานได้นานไหม นานแค่ไหนถึงจะพอเหรอ อันนี้ตอบยากครับ แต่มาตรฐานน่าจะประมาณ 6 ชั่วโมงก็ดีนะครับ (เผื่อไว้ก่อนเหอะ)
     -  เล่นเกมส์ = สเปคเครื่องต้องสูงหน่อยแล้วล่ะ เน้นตรงที่ CPU  การ์ดจอ  แล้วก็ Ram ด้วย  CPU ที่เหมาะสำหรับคอเกมส์นะ ควรจะเป็น Intel Core i5  หน่วยความจำของการ์ดจอต้องประมาณ 1 GB ขึ้นไป  Ram ก็ต้อง 2 GB ขึ้นไป ถึงจะพอไหว  ไอ้พวกนี้ก็ประมาณ 23,000 ขึ้นไปล่ะ
     3.  ความแข็งแรงทนทานของ ฝาปิดเครื่อง  อันนี้สำคัญมากเหมือนกัน  ลองคิดดูนะครับว่าเราต้องเปิดปิดมันวันนึงกี่ครั้ง  การเลือกรูปร่างของตัวเครื่องให้แข็งแรงคงทนก็สำคัญไม่แพ้ไปกว่าความงามของเครื่องนะ  (อย่าเอาแต่งามอย่างเดียว ใช้ปีเดียวก็พัง)

     4.  น้ำหนักของเครื่อง  เราต้องแบกน้ำหนักของเครื่องเดินไปเดินมา วันนึงกี่กิโลกัน ปัจจุบัน น้ำหนักของเครื่องมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ ไม่เกิน 2.4 kg ซึ่งก็หนักเอาการอยู่แล้ว ถ้าเราต้องเดินทางไกล  ลองดูนะว่าตนเองมีความสามารถในการแบกรับน้ำหนักได้เท่าไหร่กัน  แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะตามมาสำหรับคอมฯ ที่น้ำหนักเบาคือ ราคามันจะแพงเอาเรื่องเหมือนกัน หรือ สเปคเครื่องอาจจะไม่ได้อย่างที่ต้องการก็ได้
     5. ช่องเสียบต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ มีให้เราเพียงพอ และสะดวกต่อการใช้งานไหม  อย่าประมาทไปเชียวนะครับข้อนี้  เพราะปัจจุบัน อุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ที่ผลิตกันขึ้นมาใช้ USB เป็นส่วนใหญ่เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นให้มีช่องเสียบเยอะๆ ไว้ก่อนก็ดีนะ  ที่สำคัญ มันอยู่ข้างที่เราถนัดรึเปล่าลองดูกันนะ

     6. โปรแกรม Windows หรือโปรแกรม Anti Virus ที่ลงให้เรา ที่โฆษณาว่า เป็นของแท้นั้น มีอะไรยืนยันให้เรารึเปล่า เช่นการลงทะเบียนต่างๆ  รหัส Serial Number ของโปรแกรม และความสามารถในการอัพเดทต่างๆ  ไหนๆ ก็เสียตังค์ซื้อแล้วก็ให้ได้ของแท้ๆ ไปเลยก็ดีนะ  ยังไงซะ ของแท้ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว

      7. เมื่อรู้แล้วว่าจะเอาไปใช้งานอะไร และได้สเปคเครื่องเราเบื้องต้นแล้ว  ทีนี้ก็ไปดูตามบูทต่างๆ ได้ มีมากมายหลายยี่ห้อให้เลือกกันตาลาย  ทีนี้มันจะชนะขาดกันตรงไหนล่ะ ในเมื่ออุปกรณ์ภายในก็ตรงตามที่เราต้องการแล้ว  นี่เลยครับทุกคน  การรับประกันหลังการขาย  สำคัญมากนะขอบอก ผมว่า 1 ปี มันน้อยไป หาให้ได้นะประเภท 3 ปี น่ะ แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ แถมประกันเครื่องหายหน่อยก็ดีนะ คือ เอาเป็นว่าต่อรองกันให้ดีล่ะกัน (ยังไงเราก็ผ่าน ข้อ 1 มาแล้วเอากันให้เต็มที่)

      8. เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ทำตามคำแนะนำต่างๆ ของพนักงานขาย เกี่ยวกับคอมฯของเราให้ครบถ้วน  แล้วดำเนินการใช้คอมฯ ภายใน 7 วันแรกให้เต็มที่ เพราะอย่าลืมนะครับ ภายใน 7 วันเราสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ หากคอมฯของเรามีปัญหา (อย่าลืมเก็บใบเสร็จไว้ด้วยนะ) เช่น การใช้แบตเตอรี่ครั้งแรกให้หมด แล้วชาร์จให้เต็ม แล้วใช้แบตเตอรี่ให้หมด ประมาณ 3 ครั้งในการใช้คอมฯ ใหม่ของเรา  ลองอุปกรณ์ทุกอย่างที่มีในเครื่อง ช่องเสียบต่างๆ สามารถใช้งานได้ทุกช่องหรือไม่
     9. สนุกกับคอมฯ ใหม่ของคุณให้เต็มที่ ใช้งานให้คุ้มค่าที่สุด เหมือนกับงบประมาณที่คุณหามาเพื่อครอบครองมัน....

เจอกันบทความหน้าครับ....บ๊ายบาย!!!!


เมื่ออีเมล์ติดไวรัส

สวัสดีครับ พี่น้องชาวบัญชีศรีพัฒน์ทุกท่าน
          ปัจจุบัน เรามีการใช้ Internet กันอย่างมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการ อีเมล์ ไม่ว่าจะเป็น Hotmail yahoo google ซึ่ง ขณะนี้มักจะมีปัญหาว่ามี อีเมล์ แปลกปลอมที่เราไม่ได้ติดต่อไว้ แอบเข้ามาวุ่นวาย และรบกวนเราอยู่เป็นประจำ วันนี้ผมมีวิธีจัดการ เจ้าอีเมล์ขยะพวกนี้ให้ไม่สามารถมารบกวนเราได้อีก
          ก่อนอื่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อีเมล์ นั้นคือ อีเมล์อันตราย (อีเมล์ขยะ) ลักษณะของมันเท่าที่เคยเจอกับตัว จะมีการถูกส่งต่อมาจากเพื่อนๆ ของเรา ที่เรามีรายชื่อติดต่อไว้ โดยเพื่อนๆของเราไม่ได้เป็นผู้ส่งเอง หน้าตาและหัวข้อของจดหมายจะเป็นลักษณะประมาณนี้ครับ
          พวกนี้ละครับ ตัวแสบทั้งนั้น อย่าเผลอไปคลิกเชีย!!!!!!!

          ทีนี้ถ้าบังเอิญเราติดไวรัส เข้าไปแล้วล่ะทำไงดี ใจเย็นๆ ครับมีวิธีง่ายๆ ดังนี้ครับ
      1. หาตัวช่วยครับ  ได้แก่โปรแกรมในการสแกนไวรัส ประเภทนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากไวรัส ประเภทนี้มันมีความสามารถพิเศษ ในการหลุดรอด ไวรัสสแกนโดยทั่วไปที่เราใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Nod32  Antivir (ร่มแดง ที่ว่าฟรีๆ กันนั่นแหละครับตัวดีเชียว) ฯลฯ
          ผมมีอยู่ตัวนึงที่ใช้อยู่และขอแนะนำให้ใช้ ไปดาวน์โหลดกันได้ฟรีเลยที่ http://www.emsisoft.de/en/software/antimalware     
 ติดตั้งเสร็จแล้วอัพเดทซะหน่อย  แล้วจัดการสแกนซะให้สิ้นซาก  โดยในระหว่างสแกนอยู่ ให้ตัดการทำงานของ Internet ซะก่อนนะ
      2. หลังจากสแกนและทำการทำลายไวรัสต่างๆ สิ้นซากไปแล้ว ให้ รีสตาร์ทเครื่องหนึ่งครั้ง
      3. เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ ให้ทำการต่อ Internet แล้วเข้า อีเมล์ของเรา
      4. ทำการเปลี่ยนรหัสผ่านในอีเมล์ให้เรียบร้อย
      5. ที่สำคัญที่สุด แม้ว่าเราจะทำทุกขั้นตอนผ่านมาแล้ว  ให้ระมัดระวังเสมอในการเปิดอีเมล์ ว่า เมล์ใด แม้แต่จะเป็นเพื่อนเราส่งมา ถ้าหัวข้อในการส่ง มีลักษณะแปลกๆ ให้นึกไว้ก่อนเลยว่านั่นคือไวรัส  แต่หากว่าอยากจะเปิดอ่านจริงๆ ถามเพื่อนมันก่อนเหอะว่าส่งอะไรมา จะได้ไม่พลาดนะ
      6. มั่นทำการอัพเดทไวรัสสแกนประจำเครื่องของทุกท่านอยู่เสมอ เพื่อให้โปรแกรมสามารถรู้จักไวรัสตัวใหม่ๆ ได้ดีขึ้น

          ถ้าทำทุกอย่างแล้วยังไม่สามารถจัดการได้ ให้ถามผมได้เลยนะ เดวจัดการให้.....

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปคำกล่าว สุนทรพจน์ที่น่าจดจำของ Steve Jobs

มีบางคนมักพูดอยู่เสมอว่า “เมื่อเรามีชีวิตอยู่ จงใช้ชีวิตทุกวินาทีของคุณให้คุ้มค่ามากที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองและคนรอบข้างของเราอยู่เสมอ เพราะเมื่อเราจากพวกเค้าไป สิ่งหนึ่งที่พวกเค้าจะนึกถึงเราได้ คือ ประโยชน์และคุณค่าที่เราได้ทำไว้กับเค้านั่นเอง”  ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นมาโดยตลอด
ในปี 1993 มีคำพูดที่ว่า “การเป็นคนรวยที่สุดในสุสานไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ แต่การที่ผมได้นอนหลับบนเตียงและพูดว่า วันนี้เราได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ทิ้งไว้ให้กับโลก คือสิ่งที่ผมต้องการมากที่สุด” นี่คือคำพูดของชายที่ชื่อ สตีฟ  จ๊อบส์
จนถึงเมื่อ 5 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โลกก็ต้องพบกับความสูญเสีย ที่ผมเชื่อว่ามีผู้คนไม่มากก็น้อยที่เสียใจมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นั่นก็คือ “สตีฟ จ๊อบส์” ผู้ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลในโลกนี้ ที่มีชื่อว่า “บริษัท แอปเปิล”
ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ชื่นชอบความทันสมัย และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ต่างจากทุกๆคน และผลิตภัณฑ์ของ Apple ก็สามารถพลิกโลกใบนี้ได้อย่างมหัศจรรย์ที่สุด สตีฟ จ๊อบส์ ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทุกๆ คนในโลก อยากได้มันมาครอบครองมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น iPod iPhone และ iPad ซึ่งแต่ละอย่างล้วนเป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมวงการเทคโนโลยี ทำให้เป็นต้นแบบและเกิดการลอกเลียนแบบกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด (อาทิเช่น มือถือจากประเทศจีน ไม่เว้นแม้กระทั่ง บริษัท ซัมซุง ที่ได้ถูกแอปเปิล ฟ้องร้องไปเรียบร้อยแล้ว)


เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อจริงๆ สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นลูกคนรวยมีเงินมีทอง (ทุน) มากมายในการประกอบธุรกิจ  สิ่งที่เค้ามี คือความศรัทธา และความกล้าหาญในการตัดสินใจในการพลิกโลกใบนี้ด้วยสิ่งที่เค้าเชื่อ
ทีนี้ เราลองมาดูว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาของ Apple ซึ่งเกิดจาก สตีฟ จ๊อบส์ เค้ามีแรงบันดาลใจอย่างไร ในการค้นพบสิ่งที่น่าทึ่งนี้
ครับ ในวันที่เค้าจากไป มีบทความต่างๆ มากมายเหลือเกินที่ วงการต่างๆ ได้ตีพิมพ์และนำเสนอให้กับเราๆ ได้อ่านกัน สิ่งหนึ่งซึ่งผมรู้สึกประทับใจมากที่สุด นั่นก็คือ สุนทรพจน์ ที่สตีฟ จ็อบส์ ได้กล่าวไว้ในพิธีมอบปริญญาบัตร มหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด วันที่ 12 มิถุนายน 2005  ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากมายแห่งหนึ่งในโลก  ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงได้อ่านและชมคลิปวีดีโอของเค้ามาบ้างแล้ว ผมจะขอสรุปใจความที่น่าสนใจ ดังนี้นะครับ
เรื่องแรก เกี่ยวกับการเชื่อมโยงต่อจุดแต่ละจุด
          สตีฟ จ๊อบส์ เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เพราะเค้าค้นพบว่าวิชาที่เค้าถูกบังคับให้เรียนในหลักสูตร ไม่สามารถทำให้ตัวเค้าประสบความสำเร็จได้ เค้าจึงเลือกใช้ชีวิต ด้วยการขอเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจเท่านั้น  และจุดเริ่มต้นจุดแรกในชีวิตของเค้าคือการสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับ การออกแบบตัวอักษรแบบ Sefif และ San Serif เรียนเกี่ยวกับการจัดวางองค์ประกอบและช่องไปของอักษรต่างชนิด เรียนสิ่งที่ทำให้การจัดวางที่ดีสร้างอักษรประดิษฐ์ที่งดงาม มันสวย มีความเป็นมาอันยาวนาน เป็นศิลปะที่ลึกซึ้ง ซึ่งลำพังวิทยาศาสตร์ไม่อาจสร้างมันได้  ในตอนนั้น จ๊อบส์ ยังไม่รู้เลยว่าจะสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมากประกอบอาชีพอันใดในชีวิต แต่แล้ว 10 ปีหลังจากนั้น เมื่อเค้าเริ่มออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรก เค้าได้นำความรู้เรื่องการประดิษฐ์ตัวอักษรเหล่านั้น มาใช้ในเครือง Mac เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก ที่มีการจัดวางอักษรที่งดงาม  จนกระทั่งต่อมา Windows ก็ต้องเลียนแบบการประดิษฐ์ตัวอักษรของเค้าตามมา
          เรื่องนี้สรุปได้ว่า เราไม่มีวันเชื่อมโยงเหตุการณ์ หรือจุดต่างๆ ของชีวิตเข้าด้วยกัน ด้วยการมองไปข้างหน้าในขณะนั้น แต่การย้อนกลับไปมองสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต ที่เราได้เรียนรู้และทำมาต่างหาก ที่ทำให้ทุกอย่างกระจ่างและชัดเจนขึ้น
          “คุณไม่มีวันเชื่อมโยงเหตุการณ์ได้ด้วยการมองไปข้างหน้า คุณโยงเส้นต่อจุดนี้ได้ก็เพราะว่ามองมันกลับมา ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือการเชื่อมั่นว่า จุดต่างๆนั้น จะเชื่อมต่อกันทางใดทางหนึ่งในอนาคต คุณต้องศรัทธาในบางสิ่ง อาจจะเป็น พลังแห่งความกล้าหาญ, โชคชะตา, ชีวิต, กรรม หรืออะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เอง ที่ทำให้ผมไม่เคยสิ้นหวัง และกล้าที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลงต่างๆในชีวิตต่อมา”

เรื่องที่สอง เกี่ยวกับความรัก และความสูญเสีย
          บริษัท แอปเปิล ถูกก่อตั้งมาในโรงเก็บของในโรงรถ ตอน จ๊อบส์ อายุ 20 ปี ภายใน 10 ปี บริษัทแอปเปิล เติบโตจากโรงเก็บของที่มีพนักงาน 2 คน (สตีฟ จ๊อบส์ และสตีฟ วอซเนียก) เป็นบริษัทมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ ที่มีพนักงานกว่า 4000 คน แต่หลังจากนั้น จ๊อบส์ กลับถูกไล่ออกอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะชน จากบริษัทที่เค้าให้กำเนิดมา
          มันเป็นความสูญเสีย ครั้งใหญ่สำหรับจ๊อบส์ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเค้า แต่เค้ายังคงมีความรักในงานของเค้า จึงตัดสินใจจะเริ่มมันขึ้นมาใหม่  ปรากฏว่าการถูกไล่ออกจากแอปเปิลนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของจ๊อบส์ แรงกดดันของการประสบความสำเร็จ ถูกแทนที่ด้วยความปลอดโปร่งของการเป็นมือใหม่อีกครั้ง สามารถคิดได้อย่างอิสระ และเกิดการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต
          ซึ่งมันทำให้เกิดบริษัท NeXT, บริษัท Pixar ผู้ผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของโลก ที่ชื่อว่า Toy Story ปัจจุบันเป็นบริษัทอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก และช่วงเวลานีเอง จ๊อบส์ ก็ได้ตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งคือ ลอว์เรนซ์ ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาสุดที่รักของเค้า
          “บางครั้งชีวิตก็กระแทกคุณที่หัวด้วยก้อนอิฐอย่างแรง จงอย่าสูญสิ้นศรัทธา ผมมั่นใจมาตลอดว่า สิ่งเดียวที่ทำให้ผมยังคงก้าวไปข้างหน้าก็คือ เพราะผมรักในสิ่งที่ผมทำ คุณเองก็ต้องค้นหาสิ่งที่คุณรัก ทั้งงานที่คุณรัก และคนที่คุณรัก งานของคุณจะเติมเต็มในส่วนใหญ่ของชีวิต และทางเดียวที่จะพอใจอย่างแท้จริงก็คือการทำสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันยิ่งใหญ่ และทางเดียวที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ก็คือ คุณรักในสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณยังหาสิ่งนั้นไม่พบ ขอให้พยายามต่อไป อย่าหยุดยั้ง ใช้ทุกส่วนของหัวใจ คุณจะรู้เมื่อคุณได้พบมัน และ, ก็เหมือนกับมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่, มันจะค่อยๆปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น จงค้นหาความฝันจนกว่าคุณจะพบมัน อย่าหยุดยั้ง


เรื่องที่สาม เกี่ยวกับความตาย
          สตีฟ จ๊อบส์ เคยตรวจพบมะเร็งที่ตับอ่อน ซึ่งแพทย์ได้บอกกับเค้าว่า ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาจมีชีวิตอยู่เพียง 3 ถึง 6 เดือนเท่านั้น จ๊อบส์ได้ทำการตรวจรักษาอย่างละเอียดและพบว่ามะเร็งได้ลุกลามไปเพียงส่วนน้อย สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เค้าจึงเข้ารับการผ่าตัด แล้วก็หายเป็นปกติดีในเวลาต่อมา  แต่ทว่าหลังจากนั้น เค้าก็ต้องล้มป่วยลงอีกครั้ง เมื่อมะเร็งนั้นยังมีเนื้อร้ายที่ลุกลามซ่อนอยู่ จนต้องมาเสียชีวิตในเวลาต่อมา
          ก่อนหน้านั้นสิ่งที่จ็อบส์ ถามตัวเองในทุกเช้าคือ “หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต เราจะทำในสิ่งที่เรากำลังจะทำหรือไม่?” หากคำตอบคือ “ไม่” หลายๆครั้งต่อๆกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งแล้ว
          การคิดว่าเรากำลังจะตายนั้น เป็นความคิดอันสำคัญที่สุดที่ช่วย จ๊อบส์ ในการตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่า ความคาดหวังจากคนรอบข้าง เกียรติยศศักดิ์ศรี การกลัวความล้มเหลว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลยเมื่อต้องเผชิญกับความตาย ดังนั้นเราควรคิดถึงแต่สิ่งที่จำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้น
          เวลาของพวกคุณมีจำกัด ดังนั้นจงอย่ามัวเสียเวลากับการใช้ชีวิตแทนผู้อื่น อย่ามัวตกอยู่ในกฎเกณฑ์ความเชื่อที่ผู้คนงมงาย อย่าให้เสียงของคนอื่นๆดังกลบเสียงที่อยู่ในภายในของคุณ และที่สำคัญที่สุด จงกล้าที่จะเดินตามหัวใจปรารถนา เพราะลึกๆในหัวใจคุณรู้อยู่แล้วว่า อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจะเป็น สิ่งอื่นๆนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องรอง”
และสุดท้ายสตีฟ จ๊อบส์ได้ฝากข้อความที่ว่า Stay Hungry, Stay Foolish” (จงกระหายอยู่เสมอ และจงอยู่อย่างโง่เขลาเสมอ)  นั่นก็คือ จงอย่าหยุดเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอยู่อย่างเสมอ ที่ผมมักจะบอกตัวเองและคนรอบข้างที่ผมรักเสมอ.....Thankyou verymuch My teacher and Rest in peace Steve Jobs.

Stay Hungry, Stay Foolish……..
สวัสดีครับ...ไว้เจอกันบทความหน้านะ






แนวคิดทางการบัญชีเบื้องต้น

สวัสดีครับ พี่น้องชาวบัญชีทุกท่าน หลังจากที่เราได้รับความรู้ในเรื่องของการเขียน Service Profile จากพี่กานต์กันมาแล้ว ผมคาดว่าทุกคนคงกำลังขมักเขม้น ในการที่จะช่วยกันระดมความคิดในการเขียน Service Profile ของพวกเรากันอย่างเต็มที่  ดังนั้นผมจึงขอนำเสนอบทความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ประกอบในการเขียน Service Profile ของหน่วยงานนะครับ ลองดูนะครับว่า...พอได้ไอเดียรึป่าว......?????

ก่อนอื่นขอเกริ่นนำนิดนึงก่อนนะว่า  การดำเนินธุรกิจจะเริ่มต้นด้วยการจัดหาเงิน ซึ่งนำไปสู่การลงทุนเพื่อการดำเนินงานของธุรกิจ  โดยมีกิจกรรมพื้นฐานทางธุรกิจ 3 ประเภทคือ
  1. กิจกรรมจัดหาเงิน (Financing activities)  คือ กิจกรรมในการจัดหาเงินทุนเริ่มต้นของธุรกิจ และการจัดหาเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการขยายการดำเนินงานในอนาคต  การจะรู้ถึงฐานะการเงินของธุรกิจได้ต้องใช้การบัญชีจัดทำ
  2. กิจกรรมการลงทุน (Investing activities) คือ กิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์เพื่อใช้ในการดำเนินงานของธุรกิจ และต้องพิจารณาอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน ก็ต้องพิจารณาจากข้อมูลทางการบัญชี
  3. กิจกรรมการดำเนินงาน (Operating activities) คือ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการขายสินค้าและบริการในกรดำเนินกิจกรรมดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่าย หมายความว่าจะต้องมีรายได้จากการดำเนินงานเพียงพอที่จะหักกับค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องใช้เครื่องมือที่สำคัญคือการบัญชี
            ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการบัญชี เป็นเครื่องมือที่สำคัญของกิจกรรมทางธุรกิจ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางการบัญชีและข้อมูลทางการเงินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่ผู้บริหารและผู้ใช้ข้อมูลต้องการ

ความหมายของการบัญชี
            การบัญชี (Accounting)  คือขั้นตอนของระบบการรวบรวม การวิเคราะห์ และการรายงานข้อมูลทางการเงิน
การบัญชีมีความหมายที่สำคัญ 2 ประการคือ
1.    การทำบัญชี (Bookkeeping) เป็นหน้าที่ของผู้ทำบัญชี (Bookkeeper) ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
1.1.  การรวบรวม (Collecting) หมายถึง การรวบรวมข้อมูลหรือรายการค้าที่เกิดขึ้นประจำวันและหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ  เช่น หลักฐานการรับและจ่ายเงิน เป็นต้น
1.2.  การบันทึก (Recording) หมายถึง การจดบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
1.3.  การจำแนก (Classifying) หมายถึงการนำข้อมูลที่จดบันทึกไว้แล้ว มาจำแนกให้เป็นหมวดหมู่ของประเภทบัญชีต่างๆ เช่น หมวดสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้และค่าใช้จ่าย
1.4.   การสรุปข้อมูล (Summarizing) เป็นการนำข้อมูลที่ได้จำแนกให้เป็นหมวดหมู่ดังกล่าวมาแล้วมาสรุปเป็นรายงานทางการเงิน (Accounting report) ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของธุรกิจ รวมถึงการได้มาและใช้ไปของเงินสดในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง
2.  การให้ข้อมูลทางการเงิน  เพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย  เช่น  ฝ่ายบริหาร ผู้ให้กู้ เจ้าหนี้ นักลงทุน เป็นต้น ข้อมูลทางการเงินยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางด้านการเงิน การจัดทำงบประมาณ การปรับปรุงระบบบัญชี เป็นต้น

หลักการบัญชี
            หลักการบัญชี (Accounting principles)  หมายถึงแนวทางที่แนะนำให้นักบัญชียึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการรวบรวม จดบันทึก จำแนก สรุปผล และรายงานเหตุการณ์เกี่ยวกับเงิน
            หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป (General accepted accounting principles) หมายถึง แนวทางที่ได้รับการรับรองและยอมรับเป็นส่วนใหญ่จากผู้มีอำนาจหน้าที่ในวิชาชีพการบัญชี  เพื่อให้นักบัญชีใช้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ในการรวบรวม จดบันทึก จำแนก สรุปผล และจัดทำงบการเงินอย่างมีหลักเกณฑ์มีมาตรฐาน โดยทำอย่างสม่ำเสมอ
            หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป จะอยู่บนสมมติฐานทางการบัญชี เช่นหลักการใช้หน่วยเงินตรา หลักการจับคู่ระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย หลักราคาทุน หลักรอบระยะเวลา เป็นต้น

ประเภทของนักบัญชี แบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

1.     นักบัญชีส่วนบุคคล หรือนักบัญชีบริหาร (Management accountants) หมายถึง นักบัญชีที่มีอาชีพในการรับจ้างทำบัญชีในองค์การธุรกิจต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบการเก็บรวบรวมข้อมูลจดบันทึกรายการเพื่อเตรียมจัดทำงบการเงินและอธิบายผลของข้อมูลทางการเงินให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ 
หน้าที่การปฏิบัติงานของนักบัญชีมีดังต่อไปนี้
1.1.   การบัญชีทั่วไป (General accounting) หมายถึง การบัญชีเกี่ยวกับการบันทึกรายการที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปของธุรกิจ  เช่น รายการค้าทางด้านรายรับ รายจ่าย และการนำข้อมูลทางบัญชีไปจัดทำงบการเงินของกิจการ เป็นต้น
1.2.  การบัญชีต้นทุน (Cost accounting) หมายถึง การบัญชีที่เน้นการบันทึกรายการที่มีผลต่อการคำนวณหาต้นทุนสินค้าหรือบริการ
1.3. การจัดทำงบประมาณ (Budgeting) เป็นการบัญชีที่ทำหน้าที่ทางด้านการตั้งงบประมาณการรายรับและรายจ่าย  งบประมาณเป็นตัวควบคุมการดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และเพื่อให้ผู้บริหารใช้สำหรับเปรียบเทียบในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงว่าเป็นไปตามงบประมาณที่ตั้งไว้หรือไม่
1.4.  การบัญชีภาษี (Tax accounting) เป็นการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านภาษีและการเตรียมการขอคืนภาษีขององค์การธุรกิจ  เป็นการจัดทำบัญชีหรือปรับปรุงบัญชีเพื่อให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการประมวลรัษฎากร
1.5.   การตรวจสอบภายใน (Internal auditing) เป็นงานด้านการตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและการปฏิบัติว่าถูกต้อง ตรงตามระเบียบข้อบังคับของกิจการหรือไม่ งานด้านการตรวจสอบภายในมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายบริหาร เป็นการทำหนาที่แทนฝ่ายบริหารในการควบคุมดูแลการดำเนินงานของกิจการให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย และสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจสอบภายในทำหน้าที่รายงานข้อมูลผลการปฏิบัติต่างๆ ของหน่วยงานให้ทราบทุกขณะ ฝ่ายบริหารจึงจะสามารถวางแผนการดำเนินงานได้ถูกต้องต่อไป
2.    นักบัญชีสาธารณะ (Public accountants) หมายถึงนักบัญชีที่มีอาชีพทำงานเป็นอิสระ และให้บริหารด้านบัญชี ภาษีอากร และให้คำปรึกษาด้านการบริหารโดยได้รับค่าบริการ  ให้บริการงานต่างๆ ดังนี้
2.1.  การสอบบัญชี (Auditing) เป็นงานที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทำการตรวจสอบบัญชีและงบการเงินของธุรกิจ ว่าได้จัดทำข้นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน
2.2. บริการด้านภาษี (Tax services) เป็นงานที่ให้บริการด้านการให้คำแนะนำเกี่ยวกับด้านภาษีต่างๆ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
2.3. บริการให้คำปรึกษาด้านการบริหาร (Management advisory services) ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการบัญชี เช่น ปรับปรุงระบบบัญชี การวางแผนทางการเงินทั่วๆ ไป เป็นต้น
3.   นักบัญชีรัฐบาล (Government accountants) หมายถึง นักบัญชีที่มีอาชีพทำงานให้หน่วยงานของรัฐบาลหรือองค์การธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจไม่ได้หวังผลกำไร

รายงานทางบัญชีและผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชี
            รายงานทางการบัญชี (Accounting reports) เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นโดยนักบัญชี เมื่อมีรายการค้าเกิดขึ้น ผู้ทำบัญชีจะจดบันทึกรายการค้าเหล่านั้น จัดหมวดหมู่รายการ และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการบัญชีไว้เป็นศูนย์ข้อมูล เรียกว่า ระบบสารสนเทศทางการบัญชี (Accounting information system) และนำข้อมูลทางการบัญชีเหล่านั้นไปจัดทำรายงานทางการบัญชี รายงานทางการบัญชี แบ่งเป็น 3 ประเภทดังนี้
1.     รายงานทางการบริหาร (Managerial reports) เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อผู้บริหาร เพื่อทำการตัดสินใจ การวางแผนและควบคุมงานด้านต่างๆ
2.    รายงานเฉพาะ (Special reports) เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นเฉพาะเรื่องเสนอต่อผู้สนใจศึกษาข้อมูลทางการเงินประเภทนั้นๆ เช่น การจัดทำรายงานเพื่อเสียภาษีเงินได้เสนอต่อกรมสรรพากร
3.   งบการเงิน (Financial statements) เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินเพื่อตัดสินใจในด้านต่างๆ เพราะงบการเงินทำให้ทราบถึงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของธุรกิจ และแหล่งที่ได้มาของเงินสดรับและแหล่งที่ใช้ไปของเงินสดจ่ายในกิจกรรมทางธุรกิจ

ผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชี (User of accounting information) คือ ผู้ใช้ประโยชน์จากรายงานทางการบัญชี
            ดังนั้นหน้าที่ความสำคัญของนักบัญชี คือ ทำให้เกิดความมั่นใจต่อข้อมูลที่เกิดขึ้น และมีการตรวจสอบอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดความพอใจกับผู้ใช้รายงานทางการบัญชีเพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้ถูกต้อง
ขั้นตอนทางการบัญชี
            ขั้นตอนทางการบัญชี (Accounting process) หรือ วัฏจักรทางการบัญชี (Accounting cycle) คือ ลำดับขั้นตอนการบัญชี เริ่มจากการบันทึกรายการบัญชีที่เกิดขึ้น จนถึงการเสนอรายงานทางการเงินของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุด
            ขั้นตอนทางการบัญชีมี 3 ขั้นตอน
            ขั้นที่ 1 ข้อมูลพื้นฐาน (Basic data) คือเอกสารต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับสินค้า ใบกำกับภาษี และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายการค้าทุกรายการ เมื่อรวบรวมเอกสารต่างๆ แล้วจึงดำเนินการวิเคราะห์รายการค้าจากเอกสารเหล่านั้นว่ามีผลกระทบต่อบัญชีต่างๆ อย่างไร ตามหลักสมการบัญชีและหลักการบัญชีคู่เพื่อใช้ในบันทึกบัญชีในขั้นต่อไป
            ขั้นที่ 2 กระบวนการ (Processing) ของการบัญชี แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
            2.1 การบันทึก (Record) เป็นการบันทึกรายการค้าประจำวันในสมุดรายวัน (Journals) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทดังนี้
                        (1) สมุดรายวันทั่วไป (General journal) คือ สมุดขั้นต้นที่ใช้บันทึกรายการค้าโดยทั่วไปตามลำดับขั้นของรายการค้าที่เกิดขึ้น พร้อมกับสรุปคำอธิบายการบันทึกรายการ
                        (2) สมุดรายวันเฉพาะ (Specialized journals) คือ สมุดขั้นต้นที่ใช้บันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นเฉพาะและเป็นรายการที่เกิดขึ้นเป็นประจำ สมุดรายวันเฉพาะ ประกอบด้วย สมุดเงินสดรับ สมุดเงินสดจ่าย สมุดรายวันซื้อ สมุดรายวันขาย เป็นต้น
            2.2 การจัดประเภท (Classifly) เป็นการบันทึกข้อมูลต่อจากสมุดรายวันทั่วไปหรือสมุดรายวันเฉพาะ โดยจะถูกโอนย้ายจากสมุดรายวันทั่วไปหรือสมุดรายวันเฉพาะ โดยจะถูกโอนย้ายจากสมุดรายวันทั่วไปหรือสมุดรายวันเฉพาะไปยังสมุดแยกประเภททั่วไป เรียกกระบวนการนี้ว่า 
การผ่านรายการ (Posting)
            สมุดแยกประเภททั่วไป (General Ledger) คือ สมุดบัญชีที่มีการแยกบัญชีของทุกบัญชีออกจากกันให้เป็นหมวดหมู่ เช่น บัญชีแยกประเภทเงินสด บัญชีแยกประเภทสินค้า บัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้การค้า บัญชีแยกประเภทรายได้และบัญชีแยกประเภทค่าใช้จ่าย
            2.3 การสรุป (Summarize) สรุปจากบัญชีแยกประเภททุกบัญชีในตอนสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อเตรียมจัดทำงบทดลอง
            งบทดลอง (Trial balance) คือการสรุปยอดคงเหลือของบัญชีแยกประเภททุกๆ บัญชีในตอนสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
            ขั้นที่ 3 การจัดทำงบการเงิน (Financial statement) งบการเงินของธุรกิจถูกจัดเตรียมจากข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในงบทดลอง ข้อมูลจะแสดงให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานเพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลทางการเงินจะได้พิจารณาเรื่องต่างๆ ของธุรกิจได้ง่ายและเข้าใจ  โดยจะจัดทำต่อเมื่อมีการปิดบัญชีของธุรกิจในตอนสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ประกอบไปด้วยงบที่สำคัญ 3 งบคือ งบดุล งบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสด
          ทั้งหมดที่นำเสนอ หวังว่าคงจะมีประโยชน์ต่อการนำไปประกอบการจัดทำ Service Profile ของแต่ละหน่วยงานของแผนกบัญชี (หน่วยรายจ่าย  หน่วยรายรับและหน่วยวิเคราะห์ข้อมูล) โดยทั้งหมดเป็นแนวคิดของการบัญชีเบื้องต้น ซึ่งสามารถบอกเราได้ถึงกระบวนการหลักที่สำคัญของกระบวนการทางการบัญชี....ไว้พบกันบทความหน้าครับ