Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

องค์กรแห่งการเรียนรู้

องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)
          คือ  องค์การซึ่งคนในองค์กรสามารถขยายขอบเขตความสามารถของเขาเพื่อก่อให้เกิด ผลลัพธ์ที่ต้องการได้อย่างแท้จริง เป็นที่ๆ ส่งเสริมให้เกิดและขยายแนวความคิดใหม่ๆ ออกไป สามารถแสดงออกทางความคิดได้อย่างอิสระ และเป็นที่ซึ่งคนเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ด้วยกันอย่างต่อเนื่อง (ความหมายโดย Peter Senge )
          นั่นคือ การที่องค์กรมีทักษะในการสร้างสรรค์ กระตุ้นทุกคนในองค์กร ให้ได้มาซึ่งความรู้ที่สำคัญ และมีการส่งผ่านความรู้เหล่านั้น กระจายให้กับทุกคนในองค์กร เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างพฤติกรรมให้กับองค์กรในการต้องการที่จะเรียนรู้อยู่อย่างเสมอ

วินัย 5 ประการที่ทำให้องค์กร เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (The Fifth Discipline by Peter Senge)
1.       การครองงาน (Personal Mastery)
2.      การสร้างทัศนคติที่ดี (Mental Model)
3.      การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision)
4.      การทำงานร่วมกัน (Team Learning)
5.      ระบบการคิดและตัดสินใจ (Systems Thinking)

1.       การครองงาน (Personal Mastery)  คือการครองตน ใส่ใจในการพัฒนาตนเอง  โดยองค์การที่เรียนรู้ต้องสามารถส่งเสริมให้คนในองค์การสามารถเรียนรู้พัฒนาตนเอง คือ
·       การสร้างจิตสำนึกในการใฝ่เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคล
·       สร้างสรรค์ผลที่มุ่งหวัง
·       สร้างบรรยากาศกระตุ้นเพื่อนร่วมงานให้พัฒนาศักยภาพไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ ด้วยการจัดกลไกต่างๆ ในองค์การ เช่น โครงสร้างองค์การ ระบบสารสนเทศ
ระบบการพัฒนาบุคคล หรือ ระเบียบวิธีการปฏิบัติประจำวัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

2.  การสร้างทัศนคติที่ดี (Mental Model)  ด้วยการใช้โมเดลความคิดทัศนคติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความเชื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก  ไม่ยึดติดกับความเชื่อเก่าๆ ที่ล้าสมัย สามารถบริหารจัดการปรับเปลี่ยน กรอบความคิดของตน ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ได้ สร้างผลที่ดีต่อระบบการทำงานในส่วนรวมร่วมกัน

3.  การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision)  เป็นความมุ่งหวังขององค์การที่ทุกคนต้องร่วมกันบูรณาการให้เกิดเป็นรูปธรรมในอนาคต  การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม เป็นกรอบความคิด เกี่ยวกับสภาพในอนาคตขององค์การ ที่ทุกคนในองค์การมีความปรารถนาร่วมกัน ช่วยกันสร้างภาพอนาคตของหน่วยงานไปด้วยกัน  หรือการสร้างกรอบแนวทางที่จะมุ่งไปสู่จุดเดียวกันของทั้งองค์การ

4.  การทำงานร่วมกัน (Team Learning)  ด้วยวิธีการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม คือ การแลกเปลี่ยนความรู้แลtประสบการณ์และทักษะวิธีคิดเพื่อพัฒนาภูมิปัญญา และศักยภาพของทีมงานโดยรวม มีการแบ่งปันแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดข้อมูลในระหว่างกันและกัน

5.  ระบบการคิดและตัดสินใจ (Systems Thinking)  เป็นการสร้างการคิดแบบเชิงระบบ คือ ความสามารถในการคิดเชิงระบบ ให้คนในองค์การสามารถมองเห็นวิธีคิดและภาษาที่ใช้อธิบายพฤติกรรมความเป็นไปต่างๆ ถึงความเชื่อมโยงที่ต่อเนื่องของทุกๆสิ่ง และเหตุการณ์ต่างๆ โดยจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี


 “Knowledge Management = Right Knowledge + Right People + Right Time”
"การจัดการความรู้ คือ การบริหารจัดการองค์ความรู้สำคัญที่มีประโยชน์ภายในองค์กรเพื่อถ่ายทอดต่อบุคลากรขององค์กรอย่างเหมาะสมกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ในจังหวะและช่วงเวลาที่ดี เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง และก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ต่อไป"


เรียบเรียงจาก เอกสารประกอบการอบรม CMU Executive Hospital Management รุ่นที่ 1 

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การจัดการความรู้


การจัดการความรู้ (Knowledge Management)

ธุรกิจรูปแบบใหม่มีองค์ประกอบที่ต้องการดังนี้
1.       ต้องการความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitiveness)
2.      ต้องอาศัยการบริหารการเปลี่ยนแปลง และภาวะผู้นำ (Change Management and Leadership)
3.      ต้องมีการเรียนรู้ภายในองค์กร (Learning)
4.      ต้องมีนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (Innovation)
5.      ต้องการความรวดเร็ว (Speed)
6.      ต้องมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน (Strategy Focused)
7.      ต้องมีการมุ่งเน้นลูกค้า (Customer Focused)

การบริหารองค์กรยุคใหม่
          องค์กรในยุคเดิม จะมุ่งเน้นในการสร้างประสิทธิผลของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เพราะเชื่อว่าแสดงถึงความมั่นคงขององค์กร ซึ่งได้แก่ ที่ดิน (Land) อาคารและสิ่งปลูกสร้าง (Bulding) สาธารณูปโภค (Facilities) และสินค้าคงคลังหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ (Inventory)
          องค์กรในยุคใหม่ จะมุ่งเน้นการสร้างสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้หรือสินทรัพย์ทางปัญญา ให้แก่องค์กร เพื่อเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความสำเร็จต่อองค์กรต่อไป  ซึ่งได้แก่ การสร้างภาวะผู้นำ (Leadership) การสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญ (Knowledge) การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันในการทำงาน (Relationship)  และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร (Brand)
          ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันองค์กรยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ และการจัดการเกี่ยวกับสินทรัพย์ทางปัญญาขององค์กร เพราะเชื่อว่าสินทรัพย์ทางปัญญาเหล่านี้ จะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยส่งเสริมให้การขับเคลื่อนองค์กร เป็นไปอย่างมีระบบ และเกิดการเรียนรู้อยู่สม่ำเสมอ จนกลายเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในหลายองค์กรในยุคปัจจุบัน  ฉะนั้นองค์กรยุคใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้

ความหมายของความรู้ (Knowledge)
          หมายถึง สิ่งที่รู้ และสิ่งที่ต้องรู้ ซึ่งอาจจะเป็นความจริง หลักการ หรือสารสนเทศ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานในบริบทต่างๆ
รูปแบบของความรู้  แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ
1.       ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ได้แก่
·       เอกสาร (Document)
·       กฎ ระเบียบ (Rule)
·       วิธีปฏิบัติงาน (Practice)
·       ระบบ (System)
2.      ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) ได้แก่
·       ทักษะ (Skill)
·       ประสบการณ์ (Experience)
·       ความคิด (Mind of individual)
·       พรสวรรค์ (Talent)

โดยความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) คือ ความรู้ที่สามารถอธิบายได้ แต่ยังไม่ได้มีการถูกนำไปบันทึก ให้ง่ายต่อการถ่ายทอดต่อไป  ส่วนความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) คือ ความรู้ที่ไม่สามารถอธิบายได้ หรืออธิบายได้แต่ไม่อยากอธิบาย ซึ่งอาจต้องอาศัยกระบวนการในการดึงเอาความรู้เหล่านั้นออกมา เพราะถือว่าเป็นความรู้ที่อาจจะมีประโยชน์ต่อองค์กร และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนางานต่อไปได้
ดังนั้น การจัดการความรู้ (Knowledge Management)  เป็นการบริหารจัดการเพื่อให้ คนที่ต้องการใช้ความรู้ได้รับความรู้ที่ต้องการใช้ ในเวลาที่ต้องการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงาน
 ที่มาและความสำคัญของการจัดการความรู้
โดยส่วนมากแล้วสภาพแวดล้อมภายในองค์กร มักจะมีปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้น
1.       ความผิดพลาดซ้ำๆ ของผู้ปฏิบัติงาน
2.      ความรู้อยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อลาออกไปความรู้ก็จะไปกับผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น ทำให้องค์กรขาดความรู้นั้นไป
3.      องค์กรมี Best Practices แต่ไม่เคยนำมาใช้ และบางครั้ง องค์กรก็ไม่รู้ว่า Best Practices ของตนคืออะไร
4.      องค์กรมีความคิดริเริ่มซ้ำซ้อน (Wheel reinvention) หรือ เรื่องเดียวกันตลอดเวลา
5.      องค์กรต้องการผลงานที่ดีขึ้นในเรื่องของผลกำไร และการตอบสนองที่ดีต่อลูกค้า
เหล่านี้เอง องค์กรจึงจำเป็นต้องใช้การจัดการความรู้ เพื่อสร้างเกลียวความรู้ให้เกิดขึ้น
เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนางานขององค์กรให้ประสบความสำเร็จ ตามที่แต่ละองค์กรคาดหวังไว้

กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process)
          หมายถึง กระบวนการในการสรรหา หรือกำหนดองค์ความรู้เพื่อจัดเก็บ ถ่ายทอด และแบ่งปันเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในองค์กร ซึ่งประกอบไปด้วย
1.       การกำหนดองค์ความรู้ (Define)
2.      การสร้างและถ่ายโอนองค์ความรู้ (Create)
3.      การแสวงหาและการจัดเก็บองค์ความรู้ (Capture)
4.      การแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share)
5.      การใช้ความรู้ (Use)


 1.       การกำหนดองค์ความรู้ (Define)
เป็นการกำหนดชนิดขององค์ความรู้ที่ต้องการ เพื่อตอบสนองต่อกลยุทธ์ขององค์กร
หรือการปฏิบัติงาน หรือเป็นการหาว่า อะไรคือองค์ความรู้ที่เป็นหลักสำคัญขององค์กร (Core Competency)  และเป็นองค์ความรู้ที่สามารถสร้างความแตกต่าง เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งขันได้อย่างชัดเจน

2.      การสร้างและถ่ายโอนองค์ความรู้ (Create)
เป็นการสร้างทุนทางปัญญาหรือการค้นหา และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ด้วยการส่งไปศึกษาเพิ่มเติม การสอนงานภายในองค์กร หรือหากเป็นองค์ความรู้ใหม่ อาจจำเป็นต้องหาจากภายนอกองค์กร จากที่ปรึกษา การเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น และการเทียบเคียง

3.      การแสวงหาและการจัดเก็บองค์ความรู้ (Capture)
เป็นการเสาะหา และจัดเก็บองค์ความรู้ในองค์กรให้เป็นระบบทั้งองค์ความรู้ที่อยู่ใน
รูปแบบสื่อต่างๆ (Explicit Knowledge) และในรูปแบบประสบการณ์ (Tacit Knowledge) ให้เป็นทุนความรู้ขององค์กร ซึ่งพร้อมต่อการยกระดับความรู้ และขยายความรู้ให้ทั่วทั้งองค์กรได้โดยง่ายต่อไป

4.      การแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share)
เป็นการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน เผยแพร่ กระจาย ถ่ายโอนความรู้ ในหลายช่องทาง เช่น
การจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน การสอนงาน การพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีการถ่ายโอนความรู้ให้กันและกัน

5.      การใช้ความรู้ (Use)
เป็นการใช้ประโยชน์ ด้วยการประยุกต์นำไปใช้กับงานให้เกิดประโยชน์ และประสบ
ความสำเร็จในงานขึ้น และขยายผลให้ระดับความรู้และขีดความสามารถในการแข่งขันในองค์กรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ปัจจัยที่เอื้อและส่งเสริม (Enabler) การจัดการความรู้
1.       ภาวะผู้นำ และการนำองค์กร ของผู้บริหาร (Leadership) ด้วยการส่งเสริมกระบวนการ
เรียนรู้ต่างๆ อย่างเป็นระบบ
2.      โครงสร้างองค์กร (Structure) การจัดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม มีผู้ดูแลที่ชัดเจนในการดำเนินกระบวนการเรียนรู้ภายในองค์กร
3.      วัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรมองค์กร และการสื่อสารภายในองค์กร  (Culture, Behavior and Communication) การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้บุคลากรทุกคนเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมในการอยากเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นให้กับบุคลากรในแต่ละระดับในองค์กร รวมถึงการสื่อสารภายในองค์กรที่ดีเพื่อช่วยส่งเสริมให้บรรยากาศในการเรียนรู้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น
4.      เทคโนโลยี และกระบวนการ (Technology and Processes)  การนำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในการรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่องค์กรแสวงหามาได้ รวมถึงการจัดการกระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นระบบ จะช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
5.      การให้รางวัล และการยกย่องชมเชย (Rewarding and Recognition)  การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ควรมีการผูกติดกับการให้รางวัลและการยกย่องชมเชย เพื่อให้เป็นปัจจัยเสริมความต้องการอยากจะเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กร
6.      ตัววัดผล (Measurement)  การกำหนดตัววัด จะช่วยให้องค์กร ไม่หลงทางในการจัดการการเรียนรู้ภายในองค์กร
7.      ความรู้  ทักษะ  ความสามารถ  และประสิทธิภาพ (Knowledge, Skills, Abilities, Compentences) การจัดเก็บและสร้างปัจจัยเหล่านี้ให้เกิดขึ้น จะช่วยทำให้การจัดการความรู้ประสบความสำเร็จ เพราะความรู้เหล่านี้คือสิ่งที่ฝังอยู่ในผู้เชี่ยวชาญขององค์กร
8.      การจัดการ (Management)  การบริหารจัดการที่มุ่งเน้นบรรยากาศของการเรียนรู้ จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ของบุคลากรภายในองค์กร

ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital)
          เป็นสินทรัพย์ที่สร้างขึ้นโดยใช้กิจกรรมทางปัญญา และใช้ความรู้ใหม่ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า และการประยุกต์ใช้ประสบการณ์ เทคโนโลยีขององค์กร เพื่อทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดขององค์กร
          โดยในปัจจุบันการประเมินมูลค่าขององค์กร ได้ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น (Intangible Assets) ซึ่งได้แก่
·       ความรู้ขององค์กร (Knowledge)
·       ความสามารถภายในองค์กร (Competency)
·       ตรา หรือยี่ห้อสินค้า (Brand)
·       ระบบภายในองค์กร (Internal Process)

ส่วนประกอบของ ทุนทางปัญญาขององค์กร
          เนื่องจาก ทุนทางปัญญา เป็นสินทรัพย์ที่วัดได้และวัดไม่ได้ขององค์กรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมและกระบวนการขององค์กร  เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น จึงสามารถแบ่งส่วนประกอบของทุนทางปัญญา ได้ดังนี้
·       ทุนบุคลากร (Human Capital)  เป็นความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถของการทำงานของบุคลากร ทั้งในรูปแบบความรู้ที่ชัดแจ้งสามารถอธิบายได้ (Explicit Knowledge) และความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge)
·       ทุนโครงสร้าง (Structural Capital) เป็นนโยบาย กระบวนการ วิธีการทำงาน เทคโนโลยี ในองค์กรซึ่งทำให้การปฏิบัติงานในองค์กรมีทิศทาง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
·       ทุนความสัมพันธ์ (Relational Capital) เป็นความเข้มแข็งและเสถียรภาพขององค์กรที่เชื่อมต่อกับลูกค้า ผู้ขายวัตถุดิบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งต้องอาศัยการบริหารความสัมพันธ์

สิ่งที่ควรพิจารณาใน การจัดการทุนทางปัญญาขององค์กร
1.       ต้องสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งกับคนในองค์กรและลูกค้า
2.      ต้องเสริมสร้าง ทุนบุคลากร ด้วย การแบ่งปันการเรียนรู้ การสร้างทีมงาน
3.      องค์กรต้องสามารถจำแนกได้ว่าใครเป็นสินทรัพย์ขององค์กร ใครเป็นต้นทุนที่สำคัญ โดยดูจากความเชี่ยวชาญของบุคลากรนั้นๆ
4.      มีการบริหารทุนโครงสร้างที่ดี
5.      ต้องให้ความสำคัญทั้งทุนบุคลากร  ทุนโครงสร้าง  และทุนทางลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Capital)

เรียบเรียงจาก เอกสารประกอบการอบรม CMU Executive Hospital Management รุ่นที่ 1

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แนวคิดของสารสนเทศ และระบบสารสนเทศ

ความหมายของ ข้อมูล (Data), สารสนเทศ (Information) และองค์ความรู้(Knowledge)

ข้อมูล (Data)
          หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ก่อนที่จะมีการจัดการให้อยู่ในรูปแบบที่คนเข้าใจหรือสามารถนำไปใช้งานได้

สารสนเทศ (Information)
          หมายถึง ข้อมูลที่ได้ผ่านการประมวลผลและการจัดการแล้วให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมายหรือเป็นประโยชน์ต่อคนหรือองค์กร

องค์ความรู้ (Knowledge)
          หมายถึง การรับรู้ ความเข้าใจในสารสนเทศนั้น และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้

ความหมายของระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information System and Information Technology)
ระบบสารสนเทศ (Information System)
          หมายถึง ส่วนประกอบที่มีความสัมพันธ์กัน ในการนำมาใช้จัดเก็บ ประมวลผล เก็บไว้ในแฟ้ม และกระจายสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ การประสานงาน การควบคุม และการวิเคราะห์
เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
          หมายถึง เครื่องมือหรือเทคนิคที่ใช้สนับสนุนการออกแบบและการพัฒนาระบบสารสนเทศ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล การสื่อสารโทรคมนาคม และระบบรับ-ให้บริการ หรือเรียกใหม่ว่า Information and Communication Technology : ICT

ประโยชน์และคุณค่าของสารสนเทศ
ด้านการจัดการ
·       ช่วยให้ฝ่ายบริหารดำเนินการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เช่นสารสนเทศด้านเศรษฐกิจ การแข่งขัน การเงิน เป็นต้น
·       ช่วยในการสร้างกลยุทธ์ให้องค์กร
ด้านการปฏิบัติงาน
·       ช่วยในด้านการติดตามข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงาน เช่น การผลิต การตลาด การบัญชี เป็นต้น
ด้านการบันทึกข้อมูลในอดีต
·       ช่วยให้ข้อมูลในการเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตในช่วงต่างๆ เพื่อการตัดสินใจหรือการปรับปรุง
ด้านกฎหมาย
·       ช่วยเป็นหลักฐานทางกฎหมาย

ระบบสารสนเทศที่สำคัญที่นำมาใช้ในองค์กร
·       Transaction Processing Systems (TPS)/Enterprise Systems/Functional Information Systems
·       Management Information Systems (MIS)
·       Decision Support Systems (DSS)
·       Executive Support Systems (ESS) – Business intelligence Systems (BI)
·       Knowledge Management Systems (KMS)
·       Office Systems/Automation

Transaction Processing Systems (TPS)
          คือ ระบบสารสนเทศที่ใช้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เข้ามาประมวลผลเบื้องต้น แล้วเก็บไว้เป็นข้อมูลของธุรกิจ เช่น ระบบ Point of Sales (ระบบขายหน้าร้าน) ของ supermarket ต่างๆ

Management Information Systems (MIS)
          คือ ระบบการจัดทำรายงานเพื่อให้ผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปใช้ช่วยในการตัดสินใจ ส่วนใหญ่เป็นรายงานสรุปการปฏิบัติงานต่างๆ (Summary report)
 Decision Support Systems (DSS)
          คือ ระบบที่ประกอบด้วยข้อมูล เครื่องมือ และต้นแบบ ที่ช่วยในการตัดสินใจแบบกึ่งมีรูปแบบ (เป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นเป็นประจำ มีกฎระเบียบที่แน่นอน เช่น การสั่งซื้อวัตถุดิบประจำสัปดาห์) และไม่มีรูปแบบ (เป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นไม่บ่อย ในสถานการณ์ที่ผิดปกติ นำเสนอตัวเลขเพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น) โดยใช้ข้อมูลที่มาจากภายในองค์กร คือจากระบบ TPS และจากภายนอกองค์กร เช่น ตลาดหุ้น คู่แข่ง มาช่วยในการตัดสินใจ อาศัยต้นแบบมาประมวลผลข้อมูล เพื่อเสนอแนะต่อผู้ใช้งานในการตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง
          ระบบจะทำการเปรียบเทียบทางเลือกแต่ละอย่าง ตามต้นแบบของข้อมูลที่ต้องการ
 Executive Support Systems (ESS)
          คือ ระบบที่ช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง ส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจแบบที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ใช้ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กรมาประกอบ มีการนำเสนอการทำงานในรูปแบบของเมนู และการประสานงานกับผู้ใช้ด้วยรูปภาพ

Business Intelligence : BI หรือระบบสมองกลอัจฉริยะทางธุรกิจ
          คือ สารสนเทศที่ได้รับการกลั่นกรองมาจากที่รวมข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งโดยปกติคือดาต้าแวร์เฮ้าส์ หรือ ฐานข้อมูลแบบออนไลน์
          ระบบสมองกลอัจฉริยะทางธุรกิจ จะค้นพบรูปแบบ ความสัมพันธ์กันของข้อมูล แนวโน้ม และสารสนเทศอื่น เพื่อที่จะเพิ่มผลการดำเนินงานขององค์กร
ส่วนประกอบของโปรแกรม BI
1.       คลังข้อมูล (Datawarehouse)  เป็นการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลต่างๆ ในองค์กร (Database)
2.      การวิเคราะห์ธุรกิจ  ได้แก่โปรแกรมประเภท OLAP (Online Analytical Program) ต่างๆ เช่น data mining (การทำเหมืองข้อมูล) ที่จะทำให้ผู้ใช้ข้อมูลมองข้อมูลได้จากหลายมุมมอง โดยการวิเคราะห์หารูปแบบ ความสัมพันธ์กันของข้อมูล แนวโน้ม  และนำเสนอในรูปแบบของกราฟ
3.      การบริหารติดตามความสามารถในการปฏิบัติงาน (Business Performance Management : BPM)
4.      การประสานงานกับผู้ใช้โปรแกรม ได้แก่ Browser, Dashboard

Knowledge Management Systems (KMS)  การจัดการองค์ความรู้
          เป็นระบบที่ช่วยองค์กรในการค้นหา คัดเลือก จัดการ กระจาย และส่งต่อสารสนเทศที่สำคัญหรือความเชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งรวมอยู่เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำขององค์กร
          มีเป้าหมายหลัก คือ ให้องค์กรตระหนักถึงองค์ความรู้ที่บุคคลหรือ องค์กรสั่งสมไว้ และสามารถใช้องค์ความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรได้มากที่สุด
          KMS เป็นระบบที่สนับสนุนการทำงานของ (ผู้ทำงานด้านการรวบรวมองค์ความรู้) knowledge workers เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
          โดยระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Systems) เป็นระบบที่รวบรวมความรู้ และความสามารถในการแก้ปัญหาของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ มาเก็บไว้ในระบบ แล้วนำไปใช้ในการแนะนำผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

Office Automation System  ระบบสำนักงานอัตโนมัติ  ได้แก่
·       ระบบช่วยการประมวลผลและจัดทำรายงาน
·       ระบบการสร้างเอกสาร เช่น Microsoft word
·       ระบบสื่อผสม (Multimedia) เช่น Scanner, CD-ROM
·       ระบบการประชุมกลุ่มหรือการทำงานกลุ่ม
·       ระบบการนัดพบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Calender)
·       การประชุมทางไกล (Tele conferencing)
·       กรุ๊ปแวร์ (Document Sharing)
·       อินทราเน็ตและอินเทอร์เน็ต

เรียบเรียงจาก เอกสารประกอบการอบรม CMU Executive Hospital Management รุ่นที่ 1

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การอ่านกรณีศึกษา (Case Analysis)


กรณีศึกษาทางธุรกิจ (Business Case Studies) หมายถึง  คำบรรยายสถานการณ์จริงซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ความท้าทาย โอกาส ปัญหา หรือประเด็นที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลในองค์กรกำลังเผชิญอยู่
          โดยส่วนมากแล้ว ในการเรียนการสอนกรณีศึกษา เป็นเครื่องมือในการสอนแนวคิดทางบริหารขั้นสูง กรณีศึกษาถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดว่าต้องการจะสอนอะไรกับผู้เรียน โดยผู้เรียนจะเป็นผู้ค้นพบด้วยตนเอง

โครงสร้างของกรณีศึกษา ประกอบไปด้วย
·       ประเด็นปัญหา ความสำเร็จของกิจการ
·       ประเด็นวิกฤติที่ต้องตัดสินใจ
·       ข้อมูลพรรณหาความเป็นมาของกิจการ
·       ข้อมูลของคู่แข่งและอุตสาหกรรม
·       ข้อมูลการบริหารและการดำเนินการของกิจการ
โดยไม่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมภายนอก ให้ใช้เฉพาะข้อมูลที่ให้มาเท่านั้น  โดยให้สมมุติว่า ถ้าเป็นผู้บริหารใน
เรื่องและมีข้อมูลเพียงเท่านั้นจะตัดสินใจอย่างไร

วิธีการอ่านกรณีศึกษา
1.       อ่านผ่านๆ อย่างรวดเร็ว 1 รอบเพื่อให้ได้องค์ความรู้กว้างๆ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
2.      อ่านอย่างละเอียด หาความเชื่อมโยงของเรื่องราว ให้มีความหมายต่อการวิเคราะห์มากขึ้น แต่ยังไม่ต้องวิเคราะห์ในขั้นนี้ แต่ให้จับใจความให้ได้ว่า
·       ใครคือตัวละครเอก  มีบทบาทอย่างไร กำลังเผชิญปัญหาอะไร  ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
·       กิจการทำธุรกิจอะไร  ใครคือลูกค้า  คู่แข่ง หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญของธุรกิจ
·       อย่ามองข้ามแผนภาพ ตาราง และหมายเหตุท้ายตาราง มองหาตัวเลข หรือเส้นกราฟที่สนับสนุน แย้งกับเนื้อเรื่อง หรือมีความแตกต่างในเชิงเปรียบเทียบที่สำคัญ

การวิเคราะห์กรณีศึกษา
          ให้วิเคราะห์เบื้องต้นด้วยตนเองถึงสาเหตุของความสำเร็จและความล้มเหลวของสิ่งที่กิจการทำ คิดหาทางเลือกในการแก้ไขที่เป็นไปได้

สิ่งที่จะได้จากการเรียนด้วยกรณีศึกษา
1.       ได้เรียนรู้และสามารถต่อยอดนำไปประยุกต์ทฤษฏีเข้ากับการปฏิบัติจากประสบการณ์จริงของผู้ที่เคยทำ (พลาด/สำเร็จ) มาแล้ว
2.      เกิดทักษะในการตีความ ให้ลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสมกับปัจจัยต่างๆ ภายใต้สถานการณ์นั้นๆ
3.      เกิดทักษะในการแก้ปัญหาและความกล้าตัดสินใจ
4.      เกิดทักษะในการสื่อสารความเห็น ข้อวินิจฉัย และการวิเคราะห์เพื่อโน้มน้าวให้ผู้อื่นเห็นตาม
5.      เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
6.      เกิดการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติเอง

เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการอบรม CMU Executive Hospital Management รุ่นที่ 1